ยึดก่อน ‘ปฏิรูป’ทีหลัง วัดกำลัง 2 ขั้ว ชิง ‘ปชป.’

ยึดก่อน ‘ปฏิรูป’ทีหลัง วัดกำลัง 2 ขั้ว ชิง ‘ปชป.’

ความหวังที่จะปฏิรูปพรรค ที่เป็นสถาบันเก่าแก่ คือเป้าหมายของทีมชนะ แต่ความท้าทายยิ่งกว่า คือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่ของประชาธิปัตย์กลับคืนมาได้หรือไม่

พรรคประชาธิปัตย์นัดหมาย 9 ก.ค.2566 จัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดใหม่ หลังจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ลาออกจากหัวหน้าพรรค แสดงความรับผิดชอบผลเลือกตั้ง หลังจาก ปชป.พ่ายยับคาสนาม 

ต้องยอมรับว่า “พรรคสีฟ้า” ตกต่ำดำดิ่งลงเรื่อยๆ  ผลการเลือกตั้งปี 2554 ได้ 159 ที่นั่ง ปี 2562 ได้ 53 ที่นั่ง และปี 2566 เหลือเพียง 25 ที่นั่ง 

โดยปัจจัยสำคัญ หนีไม่พ้นการเกิดใหม่ของพรรคการเมืองจำนวนมาก ที่ก้าวขึ้นมายึดหัวหาด โดยเฉพาะพรรคแนวอนุรักษนิยมของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งจัดตั้ง ขยับขึ้นมาอยู่หัวแถว สะท้อนชัดว่าความนิยมใน “ประชาธิปัตย์” ลดน้อยถอยลง

ขณะเดียวกัน “โลกเปลี่ยน” แต่ “ประชาธิปัตย์” ไม่เปลี่ยนตามโลก ยังติดหล่มอยู่กับความเป็น “พรรคเก่าแก่” จนเปลี่ยนไม่ทันกับโลก นอกจากนี้ ยังเสีย “ขุนพลเลือดแท้” ไหลออกอย่างต่อเนื่อง กระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง จากปัญหาภายในพรรค

เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึงประชาธิปัตย์  การชิงอำนาจการนำในพรรค ก็ได้ปรากฏให้เห็นชัดขึ้นระหว่าง 2 ขั้วอำนาจที่เหลืออยู่ นั่นคือ “ทีมเสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ “ทีมชวน" ชวน หลีกภัย ที่พยายามรวบรวมขุนพลมาขับเคี่ยว
 

แต่โดยธรรมเนียม “พรรคเก่าแก่” แม้จะเปิดศึกรบกัน แต่ด้วยจารีตที่ยึดถือกันมานาน ศึกภายในของ “ประชาธิปัตย์” มักจะจบด้วยการโหวตจากที่ประชุมใหญ่ เมื่อโหวตเสร็จสรรพก็จะเคารพเสียงส่วนใหญ่ ส่วนความเจ็บช้ำ ยอมเก็บไว้ในใจ

สำหรับกติกาของประชาธิปัตย์ ได้กำหนดองค์ประชุมในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไว้จำนวน 374 คน ประกอบด้วย 

กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ สมาชิกพรรคที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค และ ส.ส. ของพรรคชุดปัจจุบัน จำนวน 25 คน (ตามที่กกต.ประกาศรับรอง) สมาชิกพรรคที่เป็นนายกรัฐมนตรี 2 คน อดีตรัฐมนตรี 19 คน ส่วนสมาชิกที่เป็นอดีต ส.ส. ของพรรค มีจำนวน 85 คน 

โดยการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่-หัวหน้าพรรค จะเชิญอดีต ส.ส. ที่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ให้มีส่วนเลือกด้วย

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคในต่างจังหวัด พรรคได้เชิญ สมาชิก อบจ. ที่พรรคส่งลงสมัคร 1 คน สมาชิก สภา อบจ. 1 คน ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ประจำเขตเลือกตั้ง 172 คน ตัวแทนสาขาพรรค 20 คน และยังมีองค์ประชุมอื่นๆ อีกจำนวน 20 คน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง “หัวหน้าพรรค” จะเปิดโอกาสให้แคนดิเดตหัวหน้าพรรค ได้แสดงวิสัยทัศน์ โดยองค์ประชุมที่มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรค จะได้ฟังแนวนโยบาย วิสัยทัศน์ รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การนำพรรค 

สำหรับทิศทางการโหวตมีกระแสข่าวว่า “ทีมเฉลิมชัย” มี ส.ส. อยู่ในมือ 18 (มีโอกาสถึง 20 เสียง) ส่วน “ทีมชวน” มี ส.ส. อยู่ในมือ 7 เสียง (มีโอกาสลดลงเหลือ 5 เสียง) โดยเสียงโหวตของ ส.ส. จะคิดเป็นร้อยละ 70 ของคะแนนโหวตในที่ประชุมใหญ่

ดังนั้นเมื่อ“ทีมเฉลิมชัย”มีส.ส.อยู่ในมือ 18-20 เสียง ย่อมมีโอกาสที่จะคว้าเก้าอี้“หัวหน้าพรรค”ไปครองได้ไม่ยาก ขณะที่“ทีมชวน”ซึ่งมี ส.ส.อยู่น้อยกว่ามาก ก็ต้องแก้เกมด้วยการรุกคืบกินแดน ด้วยการดึง ส.ส.จาก“ทีมเฉลิมชัย”ให้มาย้ายมาสนับสนุนตัวแทนของทีมให้ได้

ขณะเดียวกัน ทั้ง “ทีมเฉลิมชัย” และ “ทีมชวน” ยังต้องแย่งชิงโหวตเตอร์อีกร้อยละ 30 จากองค์ประชุมที่ไม่ใช่ ส.ส. โดย “ทีมเฉลิมชัย” จำเป็นต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด เก็บแต้มจากร้อยละ 30 เอาไว้ในมือ และรักษา 18-20 ส.ส. ไม่ให้แตกแถว

โดย“ทีมชวน”ต้องกล่อมร้อยละ 30 ไม่ให้ไปเติมให้ “ทีมเฉลิมชัย”และต้องรุกคืบชิง 18-20 ส.ส.มาให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าวิน

การข่าวในพรรค ระบุว่า “ทีมเฉลิมชัย” สนับสนุน “นายก ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ขณะที่ “ทีมชวน” กำลังเฟ้นหาตัวเลือกที่เหมาะสม แต่เต็งหนึ่งคือ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่อยากคัมแบ็ก

ว่ากันว่า ในการเช็กเสียงเบื้องต้น ทีมชวนมีโอกาสแพ้มากกว่า 60% และหากมองไม่เห็นโอกาสชนะ “อภิสิทธิ์” ก็อาจตัดสินใจถอนตัวในที่สุด

กว่าจะถึงวันชี้ชะตา ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ“ประชาธิปัตย์”ว่า การชิงการนำครั้งนี้ จะจบลงอย่างไร และปรากฏการณ์ “เลือดไหล” จะมีให้เห็นอีกระลอกหลังผลแพ้-ชนะครั้งนี้หรือไม่ ที่สำคัญ “ฝ่ายแพ้”ยังจะฝากอนาคตไว้กับพรรคอีกหรือไม่ 

แน่นอนว่า ความหวังที่จะปฏิรูปพรรค ที่เป็นสถาบันเก่าแก่ คือเป้าหมายของทีมชนะ แต่ความท้าทายยิ่งกว่า คือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่ของประชาธิปัตย์กลับคืนมาได้หรือไม่