‘ผบก.ปปป.-ชัยวัฒน์’ รอด! ยกฟ้องปม ‘รัชฎา’ กล่าวหากลั่นแกล้งบุกจับสด

‘ผบก.ปปป.-ชัยวัฒน์’ รอด! ยกฟ้องปม ‘รัชฎา’ กล่าวหากลั่นแกล้งบุกจับสด

‘พล.ต.ต.จรูญเกียรติ-ชัยวัฒน์’ รอด! ศาลอาญาคดีทุจริตฯพิพากษายกฟ้อง ปมถูก ‘รัชฎา’ อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวหากลั่นแกล้ง หลังโดนบุกค้นจับสด คดีเรียกรับเงิน แลกแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในคดีหมายเลขดำที่ อท 23/2566 ระหว่าง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน เช่น พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. เป็นจำเลยที่ 1 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 7 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานกลั่นแกล้งให้ต้องรับโทษ, บุกรุก, ซ่องโจรฯ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กรณีโดนบุกตรวจค้นห้องทำงาน และทำการ “จับสด” กรณีกล่าวหาว่ามีการเรียกรับเงินเพื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกรมอุทยานแห่งชาติฯ เหตุเกิดเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1-6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายชื่อในบันทึกการจับกุมท้ายฟ้อง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะชี้ให้เห็นว่า การเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ครั้งนี้ จำเลยที่ 1-6 ได้กระทำโดยมีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษตามที่อ้าง

การกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 ทั้งไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179, 210, 310, 364, 365 จำเลยที่ 7 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนและผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1-6 ตามที่โจทก์ฟ้อง 
    
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากที่โจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า นอกจากจำเลยที่ 1-6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีชื่อในบันทึกการจับกุมแล้ว ยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะจับกุมโจทก์ โดยฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ซึ่งได้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นจับกุมด้วยเช่นกัน แต่โจทก์ไม่ได้ชี้ช่องพยานหลักฐานให้เห็นว่า วีดีโอบันทึกภาพ และเสียงที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนนั้น เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1-6 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-6 กระทำความผิดตามมาตรา 164 

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคลฯ มาตรา 79 นั้น เมื่อเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์โดยจำเลยที่ 1-6 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุม ผู้กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการทุจริตในวงราชการ ดังนั้นการจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวีดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหว พร้อมเสียงเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งมีโทษทางอาญา จึงถือเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มิให้นำ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับแก่การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ พิพากษายกฟ้อง