“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม  ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม   ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

“ปิยบุตร” ลมใต้ปีกของ “พิธา” กำชับ “ห้ามปล่อยตำแหน่งประธานสภาฯให้พรรคอื่น” ระยะใกล้ มองว่าต้องการผลักดันวาระ "ก้าวไกล" ให้สำเร็จ แต่อีกนัย คือ หวังคุมเกม เซ็ต "ประเทศไทย" ไม่เหมือนเดิม

ท่าทีของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำคณะก้าวหน้า กุนซือผู้เป็นลมใต้ปีก “พรรคก้าวไกล” ที่ออกมาชี้แนะว่า “ตำแหน่งประมุขแห่งสภา” ไม่ควรยอมปล่อยไปให้พรรคการเมืองใดๆ

       

สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ที่ “ก้าวไกล” ต้องการชิง “ความเป็นผู้นำเกม” ที่แท้จริง

       

หลังการเลือกตั้ง “การเมือง” ตกอยู่ภายใต้การชิงไหวชิงพริบ เพื่อให้ได้มาสู่อำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ในนามของ “ฝ่ายบริหาร” แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นคือการชิงอำนาจ ที่สามารถเป็นผู้นำ คุมหมาก เดินเกมการเมืองในสภาฯ

 

สิ่งที่ “ปิยบุตร” อธิบายเหตุผลว่าตำแหน่งประมุขแห่งสภาฯ ที่ก้าวไกลเสียไปไม่ได้ เพราะหากจะผลักดันหลายเรื่องที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนให้สำเร็จ จุดเริ่มต้นของชัยชนะคือ “ประธานสภาฯ​" ที่ต้องเป็นคนขั้วเดียวกัน และอยู่ข้างเดียวกัน

 

หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้

“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม   ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

“พรรคก้าวไกล ต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภาฯ เพื่อคุมเกม ใช้ และตีความข้อบังคับการประชุม เพื่อคุมวาระและญัตติ นโยบายของพรรคก้าวไกลหลายเรื่องที่ต้องผลักดันในสภาฯ ที่แม้ไม่กำหนดไว้ในเอ็มโอยู พรรคก้าวไกลต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย” ปิยบุตร ระบุความไว้ในเฟซบุ๊ก

ตามกลไกและขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดบทบาทของ “ประธานสภาฯ” ที่สำคัญไว้หลายกรณี และจาก ประสบการณ์ของสภาฯ ชุดที่ 25 ที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจมอบตำแหน่งให้ “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานสภาฯ สร้างบทเรียนฝังใจให้ ฝั่งก้าวไกล รอคอยวันที่อำนาจมาอยู่ในมือ

เช่น กรณีปี 2562 ที่ฝ่ายก้าวไกล-เพื่อไทย เป็นเสียงข้างน้อย ชนะโหวตญัตติของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ขอให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ที่ฝั่งเสียงข้างน้อยชนะ 236 เสียงต่อ 231 เสียง เป็นต้น

“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม   ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

หรือกรณีดองร่างกฎหมาย-ญัตติของพรรคอนาคตใหม่ที่ต่อเนื่องเป็นพรรคก้าวไกล และบางกรณีพบว่า ด้วยกลเกมของสภาฯ ทำให้ถูกตีตกไปด้วยเทคนิคที่ประธานสภาฯ เป็นคนคุมเกม เช่น ร่างแก้ไขมาตรา 112

 

ดังนั้น หากก้าวไกลต้องการทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม บทบาทของ “ผู้นำนิติบัญญัติ” คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่จะทำให้การผลักดันร่างกฎหมาย เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม คลอดง่ายกว่าที่ผ่านมา

 

นอกจากนั้นแล้ว หน้าที่ของประธานสภาฯ ยังมีความสำคัญ ทั้งเป็นคนที่กำหนดวันประชุม วาระประชุม กำหนดญัตติประชุม รวมถึงการกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ที่นำชื่อบุคคลที่รัฐสภาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

 

โดยในกรณีโหวตนายกฯ นั้น มีการกล่าวกันว่า หาก “พิธา” ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว แต่ในระหว่างนั้น คำร้องเรื่องขาดคุณสมบัติ เพราะถือครองหุ้นสื่อยังไม่ชัดเจนจาก กกต. หรือไม่ได้รับคำตัดสินจากฝ่ายตุลาการที่ถือเป็นที่สุด การชิงโอกาส-พลิกขั้ว ย่อมเกิดได้

“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม   ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

ด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ประธานสภาฯ” คือ “ประธานรัฐสภา” ดังนั้น จึงมีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะวินิจฉัยตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ซึ่งคำวินิจฉัยนั้นถือเป็นที่สุด

 

ขณะเดียวกัน การประชุมรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเห็นชอบให้ได้มาซึ่ง “นายกฯ” คนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเดตไลน์ หรือเงื่อนระยะเวลา ดังนั้น ประธานสภาฯ จึงเป็นจุดชี้วัดความฝันว่าจะเป็นจริงหรือไม่

 

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดหน้าที่ของประธานสภาฯ ไว้ให้เป็น “กลไก” ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไป และครรลองของประเทศที่สำคัญ อาทิ

เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หรือให้พ้นตำแหน่งในตำแหน่งสำคัญๆ คือ ประธานองคมนตรี องคมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ แต่งตั้งนายกฯ

 

มีหน้าที่ “สรรหา” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น ที่เป็น “ตัวช่วยแฝง” ของขั้วอำนาจปัจจุบัน

 

หน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น กำหนดวาระประชุมสภา นัดประชุมสภา บรรจุกระทู้ถามทั่วไป กระทู้สด วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ ที่เสนอโดย ส.ส. ว่าเกี่ยวข้องหรือเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ร่างกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่งคำร้องของสมาชิกต่อร่างกฎหมายใดๆ ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม   ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

เมื่อ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเป็นไปของ “การเมืองไทย” ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงวางกรอบกำกับให้การทำหน้าที่นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง

โดยกำหนดข้อห้ามว่า ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ รวมถึงรองประธานสภาฯ ห้ามเป็นกรรมการบริหาร หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ตามมาตรา 116 วรรคสอง และกำหนดให้ประธานสภา ประธานวุฒิสภา และผู้ทำหน้าที่แทน ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม มาตรา 117 วรรคสอง

 

เหตุผลที่ต้องเขียนกรอบการทำหน้าที่เพื่อควบคุม และสกัด “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เหมือนยุคที่สภาฯ มีประธานสภาฯ ชื่อ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ผู้ได้รับฉายาว่า “ขุนค้อน” ซึ่งสมัยนั้นสังกัดพรรคเพื่อไทย ที่มีข้อครหาว่าทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง เอนเอียงไปฟากรัฐบาล จนทำให้เกิดวิกฤติในสภาฯ ซึ่งเป็นชนวนของการนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557

“ประธานสภาฯ” ผู้คุมเกม   ตัวช่วย“รัฐบาลก้าวไกล”

ดังนั้น อำนาจประธานสภาฯ จึงหลุดมือจากก้าวไกลไม่ได้ เพราะมีวาระสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกสภาฯ ตลอดเส้นทางการเมืองในอีก 4 ปีข้างหน้า

เพื่อให้มั่นใจว่า วาระสำคัญของพรรคจะไม่ถูกเกมการเมืองสกัด จนลามไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล.