ส.ว. VS ประชาชน เกมที่ทุกคนแพ้หมด | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ส.ว. VS ประชาชน เกมที่ทุกคนแพ้หมด | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ประชาชนได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนแล้วว่า ให้การสนับสนุนพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมให้เข้ามามีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ถึงแม้ในทางเทคนิคแล้ว รัฐบาลใหม่นี้จำเป็นจะต้องรวบรวมเสียงในรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ให้ได้มากกว่า 375 เสียง ซึ่งถือเป็นกฎเกณฑ์ที่แปลกประหลาด ไม่ถูกหลักประชาธิปไตยเต็มใบอย่างยิ่ง

คนไทยทุกคนก็ต่างทราบดีกว่า ที่มาของ ส.ว.นั้น ล้วนมาจากการแต่งตั้งของอดีตรัฏฐาธิปัตย์ที่ยึดอำนาจมา ดังนั้น การให้อำนาจที่ท่วมท้นแก่ ส.ว. จึงเป็นการขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นใหญ่

ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น ได้ยึดเอารูปแบบของสหราชอาณาจักรมาเป็นแม่แบบ คือเราและอังกฤษนั้นเป็นประเทศเก่าแก่โบราณ มีกษัตริย์ปกครองมาแต่ช้านาน มีวัฒนธรรมเอกลักษณ์ประเพณี เรามีรัฐสภาที่ประกอบได้ด้วย ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และมี ส.ว.และศาลที่มาจากการแต่งตั้ง

หน้าที่หลักของ ส.ว.คือการกลั่นกรองกฎหมาย ที่เสนอขึ้นมาจากสภาผู้แทนฯอันถือเป็นตัวแทนประชาชน และถูกกลั่นกรองโดย ส.ว.ในฐานะสภาของผู้มีความรู้มีความชำนาญมีวุฒิภาวะ แต่ ส.ว.ของอังกฤษนั้นไม่ได้มีสิทธิมาเลือกนายกฯ สิทธินั้นถือเป็นสิทธิของประชาชนเท่านั้น เพื่อสื่อถึงหลักการที่ว่า ถึงคนเราจะมีความรู้ความสามารถที่ไม่เท่ากัน มีฐานะและอยู่ในชนชั้นที่ต่างกัน แต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว คนเราทุกคนเท่ากันภายใต้กฎหมาย

เช่นเดียวกับ ส.ว.ไทย ส.ว.ของอังกฤษที่อยู่ในสภาขุนนาง (House of Lords) นั้นมาจากการแต่งตั้ง และมาตั้งแต่สมัยโบราณถือเป็นเครื่องแสดงถึงประเพณีและชนชั้นตั้งแต่เก่าก่อน ดังนั้น ส.ว.จึงประกอบไปด้วยพระ ขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาล ขณะที่ ส.ว.ไทยนั้นก็เลือกมาจากกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ

แต่เดิม ส.ว.ของอังกฤษมีอำนาจมาก แล้วจึงมีการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น อำนาจของ ส.ว.จึงได้ถูกจำกัดลดลง เหลือเพียงการทักท้วงหรือทำให้กฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนนั้นช้าลงเพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดหรือเป็นการกระตุกเตือนรัฐบาลให้ยับยั้งชั่งใจอีกครั้งในการออกกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรเสีย ส.ว.ก็ไม่มีอำนาจคว่ำกฎหมายที่เสนอโดยรัฐได้

ต่างกับ ส.ว.ของสหรัฐ (Senate) ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของประชาชน ในการพิจารณายับยั้งกฎหมาย หรือการรับรองบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น ผู้พิพากษาศาลสูง ข้าราชการระดับผู้ใหญ่ ที่ถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี ดังนั้นหน้าที่ของ ส.ว.จึงคือ การถ่วงดุลรัฐบาลและสภาผู้แทน

สรุป ง่าย ๆ คือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะไม่มีอำนาจ เพราะไม่ใช่ตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ต่างจาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งที่จะมีอำนาจ ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากเกินไป จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งขณะนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจจะนำประเทศไปสู่ทางตัน

ประชาชนได้ออกฉันทามติที่ชัดเจนและดังกังวาลแล้วว่า ประสงค์จะเห็นรัฐบาลใหม่ในทิศทางที่แตกต่างจากเดิม การดึงดันฝืนกระแสความต้องการของประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ทางออก

เป็นสมการที่มีแต่เสียกับเสีย ไม่มีใครได้ ประเทศชาติถึงทางตัน ประชาชนเสียหายอย่างใหญ่หลวง