เจาะนโยบาย 12 พรรค หาเสียงโกยแต้ม ลุ้นฝ่าด่าน กกต.

เจาะนโยบาย 12 พรรค หาเสียงโกยแต้ม ลุ้นฝ่าด่าน กกต.

เจาะนโยบาย 12 พรรคการเมืองดัง หาเสียงโกยแต้ม ประชานิยมเต็มสูบ-รื้อโครงสร้างการเมืองเต็มขั้น ยันฟื้นเศรษฐกิจรากหญ้า-การเกษตรก็มี ลุ้นฝ่าด่าน กกต.ตรวจเข้มวินัยการเงินการคลัง

ครบถ้วนทั้ง 70 พรรคการเมืองแล้ว ที่ยื่นนโยบายหาเสียงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบรายละเอียดแต่ละนโยบายเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่
    
โดยทั้ง 70 พรรคการเมือง ดังกล่าว คือพรรคการเมืองที่ยื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยการยื่นนโยบายหาเสียงนี้ต้องเข้าครบ 3 เงื่อนไขคือ 

  1. มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 
  2. ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
  3. ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายหรือไม่

เบื้องต้นหาก กกต.พิจารณาแล้วพบว่า นโยบายหาเสียงดังกล่าว มีความเป็นไปไม่ได้ หรือมีการปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้ง อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (5) ข้อหาหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้

อ่านข่าว: เช็กได้ที่นี่! นโยบายหาเสียง 70 พรรคการเมืองส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

นำเสนอนโยบายไว้หลายส่วน แบ่งเป็น แผนงานและนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปี เช่น ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง การแก้ปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แก้ปัญหาหนี้หลังการระบาดของโควิด-19 ระยะเวลา 12 เดือน ส่งเสริมและสร้างโอกาสของ SMEs ทั่วประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา การพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เช่น จัดให้มีทุนการศึกษาด้านอาชีวะ หรือแรงงานฝีมือที่ขาดแคลน 100 ทุนต่ออำเภอ ทุนละ 10,000 บาท/ปี ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/คน/เดือน ปรับวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาท/เดือน โดยที่ยังคงรักษาความสามารถทางการเงินและการคลังของภาครัฐให้มีความยั่งยืน ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยปรับเพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีรายได้หลังเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน ปรับเพิ่มเงินช่วยเลี้ยงดูบัตรแรกเกิดถึงอายุ 10 ปี เป็น 1,000 บาท/เดือน

ในส่วนนโยบายและโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ หรือเงินในรูปแบบอื่น รทสช.ระบุว่า มีหลายนโยบายด้วยกัน ที่เด่น ๆ มักถูกนำไปปราศรัย เช่น “บัตรสวัสดิการพลัส” จะเริ่มใช้ปี 2567 โดยมีวงเงินงบประมาณต้องใช้ในโครงการประมาณ 71,000 ล้านบาท/ปี ที่มาของวงเงิน ใช้จากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนฯ) ซึ่งประกอบด้วยเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ในวงเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท/ปี โดยอ้างว่า ไม่มีความเสี่ยง แต่มีข้อจำกัดในงบประมาณแผ่นดิน แต่ยังอยู่ในช่วงที่สามารถบริหารจัดการได้

เจาะนโยบาย 12 พรรค หาเสียงโกยแต้ม ลุ้นฝ่าด่าน กกต.

“คนละครึ่งภาค 2” ดำเนินการต่อจำนวน 26 ล้านสิทธิ์ วงเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยมีที่มาจากงบประมาณประจำปี โดยอ้างว่าแก้ไขผลกระทบและความเสี่ยงโครงการโดยการปรับเพิ่มระบบกำกับและระบบการยืนยันการใช้งานให้มีความรัดกุมมากขึ้น เป็นต้น

  • พรรคเพื่อไทย

มีหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายสำคัญที่มักถูกนำไปพูดถึงในหลายเวทีปราศรัย และใช้วงเงินนโยบายปกติ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท นโยบายอัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้วงเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม 20,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างและลดราคาพลังงาน นโยบายเรียนฟรี มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต (แพลตฟอร์ม Learn to Earn) ใช้วงเงินงบประมาณ 150 ล้านบาท นโยบาย One Tablet Per Child with free Internet วงเงิน 29,000 ล้านบาท นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ วงเงิน 3 แสนล้านบาท นโยบายเงินสมทบคนสร้างตัว วงเงิน 90,000 ล้านบาท นโยบายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วงเงิน 3,000 ล้านบาท นโยบายการบริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง ชนบทมีน้ำกินน้ำใช้ ด้วยระบบบาดาล เบื้องต้นวงเงิน 5 แสนล้านบาท นโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย วงเงิน 40,000 ล้านบาท + 8,000 ล้านบาท/ปี (ใช้การบริหารงบประมาณปกติ)

ขณะที่นโยบายที่หลายคนจับตามองอย่างมากคือ นโยบายเกี่ยวกับเงินดิจิทัล โดยรายละเอียดนโยบายนี้อยู่ในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท มีที่มาจาก 4 ส่วนคือ 1.ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท 2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท 4.การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท พร้อมหมายเหตุว่า สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ

ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบายคือ ประชาชนได้รับเงินดิจิทัลก้นถุง ที่มีเงื่อนไขเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการกระตุ้นและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เกิดเงินหมุนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเท่าเทียม และขยายตัวสูงกว่าเม็ดเงินที่ใช้ ประชาชนทุกคนมีกระเป๋าเงินดิจิทัลซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อมาตรการทางการคลังในอนาคต เพราะสามารถใส่โปรแกรมเพื่อระบุเงื่อนไขไปในเงินดิจิทัลได้ ทำให้มาตรการทางการคลังมีประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศเข้าสู่ระบบการเงินรูปแบบใหม่ผ่านเทคโนโลยี Blockchain เพื่อรองรับการเปลี่ยนของระบบการเงินโลก ภาคธุรกิจได้รับอานิสงค์จากกำลังซื้อประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงในทุกพื้นที่ เป็นต้น

  • พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

นโยบายสำคัญ ๆ ที่ได้ยินติดปากจนกลายเป็นฉายาคือ “บัตรประชารัฐ 700” นโยบายเต็ม ๆ คือ บัตรประชารัฐ 700 และฟรีประกันชีวิตประชารัฐ ระบุวงเงินที่ต้องใช้ 128,392 ล้านบาท ที่มาของเงินจากการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรายได้ตาม พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้มีงบประมาณส่วนหนึ่งได้ตั้งไว้และดำเนินการมาแล้ว พร้อมยืนยันว่านโยบายนี้ไม่มีผลกรทะบและความเสี่ยงในการดำเนินการ เพราะเป็นไปตามกำหนดใน พ.ร.บ.ดังกล่าว

นโยบายแม่-บุตร-ธิดาประชารัฐ ใช้งบ 174,216 ล้านบาท นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาท 70 ปีขึ้นไป 4,000 บาท 80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท ใช้งบ 495,658 ล้านบาท โดย 2 นโยบายนี้ใช้การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างมีประสิทธิภาพและจากงบประมาณเดิมที่เกี่ยวข้องในงบประมาณปกติ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีรายได้ และจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ รวมถึงรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

  • พรรคก้าวไกล

น่าจะเป็นพรรคการเมืองไม่กี่พรรคที่เน้นหนักนโยบายไปด้าน “การเมือง” โดยนโยบายเด่น ๆ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้รัฐธรรมนูญรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ ขยายสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้งตามที่อยู่อาศัยจริงได้ ใช้งบ 3,000 ล้านบาท ที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ระบุว่า เป็นวิธีการเดียวที่จะได้รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง และต้องทำตามประชามติตามกฎหมาย โดยการทำประชามติอาจมีคำถามพ่วงได้หลายข้อ เช่น ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคไปด้วย จะได้ไม่ต้องจัดออกเสียงประชามติหลายครั้ง

ปฏิรูปกองทัพ แยกทหารออกจากการเมือง ปรับกองทัพมาอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ใช้งบ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อการพัฒนาสวัสดิการและเงินเดือนของทหาร โดยใช้งบรายจ่ายประจำปี หากปฏิรูปกองทัพทั้งในส่วนของการลดกำลังพลลงได้ 30-40% นำธุรกิจกองทัพมาเป็นของประชาชน บริหารงานโดยกระทรวงการคลัง จะประหยัดงบ และมีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยระบุว่า เป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพกองทัพให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพพร้อมต่อการป้องกันภัยคุกคามใหม่ ๆ แล้วยังประหยัดงบประมาณแผ่นดินด้วย

คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เช่น แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก ศาลโปร่งใสตรวจสอบได้ ลงนาม ICC ศาลอาญาระหว่างประเทศ นิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยนโยบายเหล่านี้ไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่เป็นปัญหาเชิงหลักนิติธรรมทางกฎหมาย จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทบทวนเพื่อให้เกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล พร้อมระบุว่า เป็นการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่มีผลกระทบแง่ลบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายนี้

  • พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ระบุรายได้ที่ใช้ดำเนินโครงการตามนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนี้อย่างน้อย 685,400 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินนอกงบประมาณจำนวน 4.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 กลุ่มนโยบาย ได้แก่ นโยบายเกษตรทันสมัย 198,200 ล้านบาท นโยบายสวัสดิการตลอดชีพ 162,400 ล้านบาท นโยบายเศรษฐกิจการค้า 3 แสนล้านบาท นโยบายการศึกษาทันสมัย 24,800 ล้านบาท

นโยบายสำคัญ ๆ เช่น ประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท นโยบายชาวนารับ 30,000 บาท/ครัวเรือน วงเงิน 9.7 หมื่นล้านบาท นโยบายต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ 3 หมื่นล้านบาท ค่าตอบแทน อกม. 1,000 บาท/ครัวเรือน วงเงิน 900 ล้านบาท ประมงท้องถิ่นรับ 100,000 บาท/ปี วงเงิน 300 ล้านบาท Startup-SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน วงเงิน 3 แสนล้านบาท อินเทอร์เน็ตฟรี ทุกห้องเรียน/ฟรีทุกหมู่บ้าน 1 ล้านจุด วงเงิน 3.6 พันล้านบาท ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน วงเงิน 20.7 หมื่นล้านบาท ชมรมผู้สูงอายุ รับ 30,000 บาท/หมู่บ้าน/ชุมชน วงเงิน 2.4 พันล้านบาท เป็นต้น

  • พรรคภูมิใจไทย

นโยบายเด่น ๆ เช่น เพิ่มค่าตอบแทน อสม.และ อสส. (อาสาสมัคร) เป็นเดือนละ 2,000 บาท เจ็บป่วยมีประกัน วงเงินที่ต้องใช้มาจากการบริหารจัดการด้านงบประมาณใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่า เช่น ประมาณการค่ารักษาพยาบาลของหน่วยงาน 181,584 ล้านบาท/ปี ปรับลด 15% =27,237 ล้านบาท/ปี โดยดำเนินตามงบประมาณภาครัฐปกติ

ส่งเสริมการใช้กัญชา กัญชงเพื่อการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งแบบพึ่งพาตนเอง และอุตสาหกรรม เร่งออกกฎหมายกัญชา กัญชง ป้องกันการใช้กัญชา กัญชงในทางที่เป็นโทษต่อสุขภาพ โดยระบุว่า ไม่ต้องใช้วงเงินงบประมาณ ส่วนผลกระทบและความเสี่ยง พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ซึ่งหลายองค์กรยอมรับว่ามีประโยชน์ใช้รักษาได้หลายโรค และหากมีการใช้กัญชาในทางการแพทย์มากขึ้นจะช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ความเสี่ยงขณะนี้อยู่ที่การไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้ ไม่มีกฎหมายออกมาคุ้มครอง ทำให้เกิดสุญญากาศในทางกฎหมาย ปัญหานี้จะยุติได้ต่อเมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อให้กัญชาเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย

นโยบายปุ๋ยดี ราคาถูก วงเงินที่ต้องใช้มาจากสร้างโรงปุ๋ยยูเรียจากเถ้ายิบซัม เศษถ่านหิน พัมนาโดยใช้พลังงานสะอาด งบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่มาของเงินที่จะใช้มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว จังหวัดละ 100 ล้านบาท วงเงินที่ต้องใช้ 7.7 พันล้านบาท เงินกู้ กยศ.ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่มีผู้คำประกัน ไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ โดยรัฐไม่ได้ใช้งบประมาณหรือวงเงินเพิ่มเติม แต่ใช้วิธีการบริหาร งบประมาณภาครัฐแผนใหม่มาสนับสนุนแนวทางการดำเนินงาน

  • พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)

นโยบายที่คุ้นหูในเวทีปราศรัยของพรรค ทสท. เช่น นโยบายที่ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลตั้งแต่เกิดจนแก่ ใช้วงเงินประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหลายนโยบายย่อย เช่น นโยบายสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึง 6 ขวบ นโยบายลงทุนสร้างเด็กไทยให้ทันโลก เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ลดเวลาเรียน 3-4 ปีไม่เป็นหนี้ กยศ. นโยบายแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายสร้างรายได้ด้วยนโยบายบำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท โดยระบุว่า ทสท.ได้เสนอกฎหมายเข้าสภาเรียบร้อยแล้ว มีที่มาจากการใช้งบประมาณปกติ ปรับโครงสร้างงบประมาณประจำปีมาดำเนินการตามนโยบาย โยกงบประมาณเบี้ยผู้สูงอายุ 80,000 ล้านบาทมารวมไว้ที่นี่ มาตรการส่งเสริมให้ SMEs เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น “30 บาทพลัส” สุขภาพดีถ้วนหน้า สร้างสุขภาพให้แข็งแรงก่อนป่วย นโยบายพัฒนาพัฒนาชีวิตคนพิการ กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย แก้หนี้เสียที่เกิดจากโควิด พักหนี้ 3 ปี ฟรีดอกเบี้ย 2 ปี นโยบายกองทุนเครดิตประชาชน ล้างหนี้นอกระบบ กู้ 5,000-50,000 บาท ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน เป็นต้น

ส่วนนโยบายพรรคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เน้นหนักไปด้านนโยบายการเกษตร เช่น นโยบายเกษตรรุ่นใหม่ ใช้งบ 7,000 ล้านบาท แจกพันธุ์ข้าวฟรี 60 ล้านไร่ ใช้งบ 19,575 ล้านบาท/ปี ระบบบาดาลขนาดใหญ่ 18,410 ล้านบาท/ปี ขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร 27,500 ล้านบาท/ปี เป็นต้น

พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) นโยบายกองทุน Soft Power 10,000 ล้านบาท นโยบายท่องเที่ยวนำไทย เพิ่มนักท่องเที่ยว 80 ล้านคน ใช้วงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาทจากงบประมาณแผ่นดินปกติ นโยบาย Motorway ทั่วไทย 2,000 กิโลเมตร โดยรัฐมีภาระค่าใช้จ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาท ช่วง 4 ปีแรกคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ประมาณ 1,000 กิโลเมตร มีเอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP) ค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ที่มาของเงินมาจากค่าก่อสร้าง 2.5 แสนล้านบาทจากภาคเอกชน ค่าในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาทจากงบประมาณแผ่นดิน นโยบายทุนธุรกิจสร้างสรรค์ ให้ทุน 1 ล้านบาทแก่ประชาชนา ไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดวัย ใช้งบปีละ 2.5 พันล้านบาท รื้อโครงสร้างพลังงาน จัดตั้งกองทุน Solar Fund สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชน งบ 1 แสนล้านบาท เป็นต้น

พรรคประชาชาติ ชูนโยบายประชาชาติสร้างคน ประชาชนสร้างชาติ รัฐสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเสียชีวิต ใช้วงเงิน 9.94 แสนล้านบาท 

พรรคเพื่อชาติ ชูนโยบายอาหารกลางวันเด็กนักเรียน 30 บาท/หัว วงเงิน 30,580 ล้านบาท/ปี ตรวจสุขภาพฟรีทุก 4 ปี วงเงิน 16,500 ล้านบาท/ปี ผ้าอนามัยฟรี รับฟรีได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน 20,000 ล้านบาท/ปี ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกครัวเรือนฟรี วัคซีนพื้นฐาน วงเงิน 300 ล้านบาท เป็นต้น 

พรรคเสรีรวมไทย มีนโยบายเบี้ยผู้พิการ 3,000 บาท/เดือน ใช้งบ 75,600 ล้านบาท/ปี เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ใช้ประมาณเพิ่มจากเดิมปีละ 50,000 ล้านบาท นโยบายเสริมสร้างประสิทธิภาพกองทุนหมู่บ้าน จัดที่ดินให้ประชาชนอาศัยทำกิน น้ำมันไฟฟ้าราคาถูก แก้ปัญหาประมงไทยยั่งยืน เป็นต้น