บี้ กกต.สอบ “เศรษฐา-เพื่อไทย” นโยบายเงินดิจิทัล ส่อประโยชน์ทับซ้อน

บี้ กกต.สอบ “เศรษฐา-เพื่อไทย” นโยบายเงินดิจิทัล ส่อประโยชน์ทับซ้อน

“ศรีสุวรรณ” ไล่บี้ กกต.สอบ “เศรษฐา-เพื่อไทย” ปมนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล” 1 หมื่นบาท เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ ชี้ส่อประโยชน์ทับซ้อน เอื้ออดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตัวเอง

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัย กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทย ทำนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล แจกวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 54 ล้านคนๆละ 10,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยไม่บอกความจริงให้หมด เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากการหาเสียงการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าวซึ่งเป็นการใช้ประชานิยมสุดขั้วนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างทั้งทางบวกและทางลบได้ และมีเสียวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าจะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐอย่างมาก ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 หรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ประกอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) 2561 โดยเคร่งครัด โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินจะเหลือถึงประชาชนจริงๆเพียง 8,500 บาท เมื่อสิ้นปีภาษีต้องแจ้งเป็นรายรับต่อสรรพากร รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย การบอกความจริงไม่หมดเป็นการหลอกลวงจูงใจให้เข้าใจผิด ตาม ม.73(5) ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2561 หรือไม่
    
“แต่ที่สำคัญ กรณีดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนายเศรษฐา เคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพทย์ดิจิทัล หรือโทเคนดิจิทัล เพื่อการลงทุน ก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดให้กับลูกสาวและลาออกจากผู้บริหารในบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ทุกตำแหน่ง เพื่อมาลงการเมือง แต่จะทำให้สังคมไว้วางใจได้อย่างไรว่า การประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง แม้จะโอนหุ้นให้ลูกสาวไปแล้ว แต่ก็อาจจะยังเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.44 แห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ด้วยหรือไม่” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทราบถึงคำอธิบายของพรรคเพื่อไทย ที่รายงานมายัง กกต.ด้วยว่า

1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการมาจากแหล่งใด

2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย

3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย เพราะหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.73 (1) และ (5) แห่ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2561 เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป