เผย 3 วิธีตรวจโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ ติดแอปฯ รีโมทดูดเงิน เตือน 203 แอพอันตราย

เผย 3 วิธีตรวจโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ ติดแอปฯ รีโมทดูดเงิน เตือน 203 แอพอันตราย

ตำรวจปราบอาชญากรรมออนไลน์แนะ 3 วิธีตรวจสอบโทรศัพท์ ระบบแอนดรอยด์ ถูกติดตั้งแอปฯ รีโมทดูดเงินหรือไม่ เตือนอย่าโหลด 203 แอปฯ อันตราย

21 ม.ค.66 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ได้แนะนำวิธีตรวจสอบมือถือระบบแอนดรอยด์ (Android) แก่ประชาชนว่าถูกติดตั้งแอปพลิเคชั่นรีโมทดูดเงินหรือไม่ 

เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายถูกขโมยข้อมูล และเงินผ่านมือถือ จากการพลั้งเผลอติดตั้งแอปพลิเคชั่นที่แฝงมัลแวร์ลงมือถือโดยไม่รู้ตัว เป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพควบคุมมือถือจากระยะไกล และสวมรอยทำธุรกรรมการเงิน โดยโอนเงินออกจากบัญชีแทนเจ้าของได้ 

ขั้นตอนการติดตั้ง มีดังนี้

1. ไปที่เมนูการตั้งค่า (รูปฟันเฟือง) เลือก > แอพ แล้วกดที่จุด 3 จุด มุมขวาบน เลือกเมนูย่อย > การเข้าถึงพิเศษ

2. หากไม่สามารถเปิดดูเมนูดังกล่าวได้ โดยหน้าจอจะเด้งออกไปที่หน้าหลักทันที แสดงว่า มือถือเครื่องนั้นถูกฝังแอพฯ เรียบร้อยแล้ว

3. สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันที แล้วสำรองข้อมูลที่สำคัญ จากนั้นล้างเครื่อง โดยรีเซต (Reset) เครื่องกลับคืนค่าเริ่มต้นจากโรงงาน

 

เผย 3 วิธีตรวจโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ ติดแอปฯ รีโมทดูดเงิน เตือน 203 แอพอันตราย

นอกจากนี้ นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า จากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ที่มีกลุ่มมิจฉาชีพพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวและดูดเงินจากบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ เร่งรัดดำเนินการมาตราการป้องกัน ยับยั้ง ปราบปราม และดำเนินคดี ที่ผ่านมามีกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

อย่างกรณีการป้องกันการโหลดแอปฯที่อันตราย ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตรายที่มาในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นบนมือถืออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปฯฝังมัลแวร์อันตรายไว้ มีโอกาสที่จะถูกดูดข้อมูลส่วนบุคคลหรือถูกควบคุมมือถือจากระยะไกล ทำให้มิจฉาชีพสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือได้ 

จากข้อมูลในปี 2022 มีการเผยแพร่รายชื่อแอปพลิเคชั่นอันตราย  203 รายการ ทั้งในระบบ iOS และ Android ( ดูเพิ่มเติมได้ที่Facebook ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทำการตรวจสอบ หากพบแอปพลิเคชั่นดังกล่าวให้ถอนการติดตั้งโดยทันที และควรอัพเดทระบบของเครื่องโทรศัพท์ของตนเองให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ พร้อมทั้ง ขอให้ระมัดระวังในการดาวน์โหลดแอปฯต่างๆ มาใช้งานลงบนมือถือด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้ประสานกับทาง Play Store หรือ App Store ให้นำแอปเหล่านี้ออกจากระบบแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้