เรายังหาความหมาย ยังใฝ่ฝันและยังมีชีวิตอยู่ | วิทยากร เชียงกูล

เรายังหาความหมาย ยังใฝ่ฝันและยังมีชีวิตอยู่ | วิทยากร เชียงกูล

เราแต่ละคนคิดถึงความหมายของชีวิตต่างกันไป ส่วนใหญ่อาจคิดแค่การดิ้นรนเรื่องการทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัวไปวันๆ นั่นคือความจริงขั้นพื้นฐานสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดพันธุ์ แต่ผมคิดว่าชีวิตมีความหมายมากกว่าความจริงขั้นต้นข้อนั้น

การที่ผมได้เข้ามาเป็นนักอ่านอย่างหลงใหลและเป็นนักเขียนเพื่อสื่อสารถึงคนอื่นๆ ทำให้มีเป้าหมายในชีวิตว่า ผมจะสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานเขียนที่มุ่งไปสู่ความจริง ความงาม เป็นประโยชน์ ต่อคนอื่นๆ เท่าที่จะทำได้ และวันหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องลาจากโลกนี้ไป ผมจะมีส่วนช่วยทำให้โลกดวงนี้สวยงามขึ้น เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย

ลึกๆ อยู่ในใจพวกเราทุกคนในฐานะสัตว์ชนิดพันธุ์ที่พัฒนาทางด้านภาษาและวรรณกรรมได้มากกว่า มีความคิดจิตสำนึกความรักต่อพวกพ้องมากกว่าสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ เราต่างอยากใช้ชีวิตอย่างมีความหมายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น มากกว่าเรื่องพื้นๆ

เรายังหาความหมาย ยังใฝ่ฝันและยังมีชีวิตอยู่ | วิทยากร เชียงกูล

เช่น ความมั่งมีหรือความสุขจากการได้เสพสิ่งต่างๆ ผมเชื่อว่าเรามีความต้องการทางจิตใจที่อยากให้คนอื่นๆ ยอมรับว่าเราเป็นคนที่มีส่วนในการทำสิ่งที่ดี สวยงาม มีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ในสังคมในทางใดทางหนึ่ง

เราตระหนักว่ามนุษย์เราแต่ละคนต้องพึ่งพาอาศัย ต้องร่วมมือ ช่วยเหลือกันและกัน จึงจะอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองได้ ที่เราก้าวมาถึงตำแหน่งที่เรายืนอยู่ในเวลานี้ของชีวิตได้ เป็นผลมาจากการช่วยเหลือของคนหลายคน

ตั้งแต่พ่อแม่ญาติพี่น้อง คนรู้จักในชุมชน ครูบาอาจารย์ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชุมชน/ประเทศ เราทุกคนจึงต่างมีความหมายต่อกันและกันในทางใดทางหนึ่ง เพราะเราแต่ละคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่โอบล้อมอุ้มชูเราไว้

เรายังหาความหมาย ยังใฝ่ฝันและยังมีชีวิตอยู่ | วิทยากร เชียงกูล

ผมเคยเขียนกลอนเปล่าชื่อว่า “ฉันยังคิดถึงคุณ ยังใฝ่ฝันและยังมีชีวิตอยู่” ไว้เมื่อตอนปลายปี 2539 ในตอนนั้นขบวนการนักศึกษาประชาชนล่มสลายมาได้ราวสิบกว่าปีแล้ว แต่บ้านเมืองก็ยังคงมีปัญหามากมาย

และในช่วงใกล้ๆ กันนั้น ยังคงมีการจับกุมปัญญาชนหัวก้าวหน้าบางคนในข้อหาคอมมิวนิสต์ด้วย ช่วงนั้นปัญญาชนก้าวหน้าต่างพากันท้อแท้/ถอดถอนใจ 

ผมเขียนกลอนเปล่าเพื่อรำลึกและปลุกปลอบใจพวกเขาและเธอว่า “ฉันยังคิดถึงคุณ ฉันใฝ่ฝันและยังมีชีวิตอยู่” กลอนเปล่านั้นเขียนและตีพิมพ์ไว้เมื่อราว 26 ปีที่แล้ว แต่ในสถานการณ์ของวันนี้ ผมยังคิดว่าที่เป็นกลอนเปล่านี้มีความหมายสำหรับคนที่เคยคิดถึงคนอื่นนอกจากตัวเองอยู่มาก

ผมจึงจะขออ่านครึ่งสุดท้ายของกลอนเปล่าชิ้นนี้ ให้พวกคุณฟัง โดยถือเป็นท่อนสุดท้ายของปาฐกถาวันนี้

“ฉันคิดถึงคุณ
เพื่อนพ้องน้องพี่ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักกิจกรรม ในช่วงทศวรรษที่ 2510
คิดถึงยุคสมัยของความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ที่ช่างเปล่งประกายเจิดจ้าอะไรเช่นนั้น
คิดถึงยุคสมัยที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส ของความรู้สึกรักในเพื่อนมนุษย์ และความชิงชังต่อการเอาเปรียบที่มนุษย์ทำต่อมนุษย์ด้วยกัน
คิดถึงความรักฉันเพื่อนและพี่น้อง ซึ่งอบอุ่นและมีพลังอย่างที่ไม่อาจเปรียบ และไม่อาจจะหาได้อีกต่อไปแล้ว

ฉันคิดถึงคุณ
คนที่ล้มหายตายจากไปในสงครามเพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ในช่วงปี 2516-2525
เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ภายหลังสงครามกลางเมืองยุติต้องเสียความสมดุลไป
หรือยังอยู่อย่างยากลำบาก ไม่ว่าทางวัตถุหรือจิตใจ เพราะการไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ได้

ฉันคิดถึงคุณ
คิดถึงคนที่เคยถูกจับกุมและต่อมาถูกปล่อยจากที่คุมขังที่เล็กกว่า เพียงเพื่อออกมาอยู่ในที่คุมขังที่ใหญ่กว่า
ที่เขามองไม่เห็นมัน หรือทำเป็นมองไม่เห็นในแผ่นดินที่มีชื่อแปลได้ว่า “อิสระ” แต่คนสามัญชนเป็นเพียงธุลีดินที่ถูกเหยียบย่ำอยู่ตลอดมา

ฉันคิดถึงคุณ
คนที่เคยร่วมถกปัญหาบ้านเมือง เผยแพร่ความคิดและพยายามจัดตั้งองค์กรอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
คนที่ยังพยายามทำให้โลกส่วนนี้สวยงามขึ้น
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในหมู่บ้าน ในสลัม ในสถาบันการศึกษา ในวัด ในตึกสำนักงาน ในป่าคอนกรีตระฟ้า ในส่วนไหนของโลกก็ตาม

ฉันยังคิดถึงคุณ
แม้ว่างานและภาระของชีวิตส่วนตัว จะทำให้เราไม่มีเวลา และโอกาสมากพอ
ที่จะส่งความระลึกถึงกัน ติดต่อกัน หรือร่วมกิจกรรมในแนวทางเดียวกันแล้วก็ตาม

ฉันอยากให้พวกคุณรู้ว่า ฉันยังคิดถึงคุณ ระลึกถึงคุณอยู่เสมอๆ และฉันก็ใฝ่ฝัน และยังมีชีวิตอยู่
มีชีวิตอยู่เหมือนกับที่นาซิม ฮิคเมท เพื่อนกวีชาวตุรกีของเราเคยเขียนว่า
“การมีชีวิตอยู่ คืองานสำคัญ คือความหวัง” และ
“เราจะต้องมีชีวิตอยู่ เหมือนกับว่าเราไม่มีทางจะตายได้เลย”

ในช่วงวาระปีใหม่ ที่ยังมีความทุกข์ยาก และปัญหาสังคมเต็มบ้านเต็มเมืองนี้
ฉันจะส่งความสุขอะไรให้คุณได้เล่า? นอกจากจะขอให้คุณใฝ่ฝัน และยังมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน
(จากปาฐกถาในงานมอบรางวัลบรรณาธรเกียรติยศ โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย วันที่ 27 พ.ย.2565)