"ศุภชัย" ขอความสามัคคี ไฟเขียว "กมธ."ขยายเวลาศึกษา "ประชามติแก้รธน."45วัน

"ศุภชัย" ขอความสามัคคี  ไฟเขียว  "กมธ."ขยายเวลาศึกษา "ประชามติแก้รธน."45วัน

"สมชาย"ยืนยันเจตนา ขอขยายเวลาศึกษา เรื่องประชามติแก้รธน. ก่อนวุฒิสภาเห็นชอบ เพื่อความรอบคอบ หลังพบหลายประเด็นเป็นปัญหา ด้าน "ศุภชัย" เป็นตัวช่วย ขอ "ส.ว." สามัคคี ให้ผ่านโดยไม่ต้องลงมติ

           ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา  คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้พิจารณา เรื่องที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาญัตติขอให้สภาฯ มีมติส่งเรื่องคณะรัฐมนตรีดำเนินการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธานกมธ. ขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป 45 วัน  จากระยะเวลาที่ขอพิจารณา 30 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธันวาคม 2565  ซึ่งค้างมาจากการประชุมวุฒิสภา เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. ไม่เห็นด้วย

 

           ทั้งนี้ในการพิจารณานายสมชาย ชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 45 วัน เนื่องจากมีประเด็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจากการเชิญนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกลมาชี้แจง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ตัวแทนของสำนักงานกฤษฎีกา พบว่ามีประเด็นข้อเท็จจริง คือ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง ไม่สามารถประหยัดงบประมาณได้ และยังพบว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีก 1 เท่า จากเดิมที่การเลือกตั้งใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท มีการจัดหน่วยเลือกตั้ง 9หมื่นหน่วย หากมีการออกเสียงประชามติต้องใช้เจ้าหน้าที่ กกต.เพิ่มขึ้น และไม่สามารถใช้หน่วยออกเสียงเดียวกันได้ เพราะมีความเขย่งกันทางกฎหมายระหว่างกฎหมายเลือกตั้งและกฎหามายออกเสียงประชามติ  

 

 

             นายสมชาย กล่าวด้วยว่า การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญ และต้องศึกษาให้รอบคอบรัดกุม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยส.ส.ร.นั้นไม่ถูกจำกัดว่าแก้ไขได้เฉพาะหมวดหรือมาตราใดเท่านั้น แต่หมายถึงการแก้ไขได้ทั้งฉบับ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยถึงพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งกมธ.ยังเตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง นายเจษฎ์ โทณะะวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ. และ ตัวแทนของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

 

             “ผมยืนยันการทำหน้าที่ เพื่อให้การศึกษาเป็นวิชาการและรอบคอบที่สุดก่อนให้วุฒิสภาลงมติ และเพื่อไว้ให้เกิดการศึกษาในอนาคต อย่างไรก็ดีผมทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่มีประเด็นที่สังคมสื่อสารว่าต้องการยื้อเวลา”  นายสมชาย กล่าว

             ทางด้านนายเฉลิมชัย ยังติดใจ พร้อมอภิปรายว่าหากขยายเวลา 45 วัน จะทำให้การศึกษาของกมธ. สิ้นสุดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 แต่หากพบประเด็นที่ต้องศึกษาต่ออาจจะขอขยายออกไปได้อีก 15 วัน ซึ่งอาจจะสิ้นสุดสมัยประชุมนี้ได้ ทั้งนี้การขอขยายเวลาไม่ควรเกินเวลาที่ขอให้ศึกษาในตอนแรก 30 วัน จะถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลาหรือยื้อเวลาได้ 

 

             ทำให้นายศุภชัย กล่าวขึ้นว่า "หลังจากนี้จะมีวันหยุดอีกเยอะ หากท่านให้ได้ 30 วัน ผมขอท่านอีก 15 วันนะครับ เพื่อความสมัครสมานสามัคคี” ทำให้นสายเฉลิมชัย กล่าวขึ้นว่า “เพื่อเห็นแก่ท่านผมไม่ขัดข้อง”  ทำให้ที่ประชุมวุฒิสภาปรบมือรับอย่างเกรียวกราว.