"รัฐบาล" ขอ "ส.ว." คืนเก็บดอกเบี้ย - ค่าปรับ "กยศ."

"รัฐบาล" ขอ "ส.ว." คืนเก็บดอกเบี้ย - ค่าปรับ "กยศ."

วุฒิสภา ถกร่าง พ.ร.บ.กยศ. แล้ว "อาคม" บอกของ ส.ว. คืนเก็บดอกเบี้ย - ค่าปรับ หวั่นกองทุนขาดรายได้ ประเมิน 3 ปี รัฐต้องสมทบเงิน ด้าน"ส.ว." เห็นด้วยต้องมีค่าปรับ - ดอกเบี้ย

          ในการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา  ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน

 

          โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงกับที่ประชุมวุฒิสภา ตอนหนึ่งว่า กรณีที่สภาฯ แก้ไขเนื้อหาให้ปลอดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าอาจนำมาซึ่งปัญหาการขาดวินัยในการชำระหนี้เงินกู้ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาอันตรายทางศีลธรรม ขาดจิตสำนึกการส่งคืนเงินกู้ และมีผลกระทบต่อการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เพราะขาดรายได้จากดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ทำให้กองทุน กยศ. อาจต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน และกระทบต่อการให้นักเรียนกู้ยืมเงินรุ่นต่อไป

 

 

          "หากเนื้อหาสาระเป็นไปตามเนื้อหาที่สภาเสนอต่อวุฒิสภา การประมาณการกระแสเงินสดอีก 3 ปีอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องของบประมาณแผ่นดินเพิ่มเติม เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะให้เด็กนักเรียน นักศึกษาได้กู้ยืมต่อไป จึงหวังว่าวุฒิสภาจะพิจารณา ให้ กยศ. สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับได้ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาลดภาระ และสร้างวินัยการเงินรวมถึงสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุน โดยที่ผ่านมามีผู้ชำระหนี้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ทำไว้  และเพื่อรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่เพิ่งผ่านจากวิกฤติเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาด โควิด-19 “ นายอาคม กล่าว

 

          ขณะที่การแสดงความเห็น และการอภิปรายของส.ว. นั้นส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่อการคงการเก็บดอกเบี้ย และเบี้ยปรับในอัตราต่ำ ตามที่ คณะรัฐมนตรี เสนอคือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี จากเดิม 7.5% ต่อปี และเบี้ยปรับไม่เกิน 1% จากเดิม 18% และแสดงความกังวลว่าหากปลอดดอกเบี้ย และค่าปรับจะทำให้กองทุน กยศ. ไม่มีเสถียรภาพ และล่มสลายได้

 

 

          โดยนายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา อภิปรายสนับสนุนให้วุฒิสภาที่มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ทำกฎหมายที่ผิดทำให้ถูกต้อง เพราะส.ว. ไม่ต้องไปเลือกตั้ง ไม่ต้องหาเสียง ดังนั้นควรทำความถูกต้องให้เกิดขึ้นเพื่อให้คนมีสำนึก และความรับผิดชอบ ด้วยการคงดอกเบี้ย และคิดค่าปรับ โดยการปรับแก้ไขร่างกฎหมายควรยึดหลักการให้มีกองทุนเพื่อหมุนเวียนให้ผู้กู้รุ่นต่อไป โดยตนเห็นด้วยกับรัฐมนตรีคลังที่บอกว่าต้องมีดอกเบี้ยและค่าปรับ

 

          ทางด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่าสนับสนุนร่างพ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่คณะรัฐมนตรี  ต่อประเด็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และค่าปรับ เพราะถือเป็นการปฏิรูปใหญ่ และไม่ควรแก้ไขเพิ่มเติมอีก สำหรับร่างที่แก้ไขจากสภาฯ ที่ไม่มี เบี้ยปรับ ดอกเบี้ย ไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณีนั้น  ถือว่าเปลี่ยนแปลงหลักการใหญ่ของ ครม. และจากผลการแก้ไขดังกล่าวทราบว่ามีผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ไม่ชำระหนี้สูงขึ้นหลายเท่าตัว  

 

           นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่า การกู้ยืม ไม่ใช่เรียนฟรี หมายความว่าต้องคืน จำเป็นต้องมีหลักประกัน แต่ควรมีข้อยกเว้นตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่ควรถึงขั้นให้ไม่มีการค้ำประกัน ดูแล้วหลักลอยไป ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการไม่คิดดอกเบี้ย ทำให้คนกู้ไม่คิดที่จะชดใช้ ยิ่งไม่มีทั้งดอกเบี้ย ไม่มีคนค้ำประกัน นักศึกษาจะเอาเงินไปชำระหนี้มือถืออย่างเดียว  แต่หนี้ กยศ.ทุกคนมองไม่ชำระก็ได้ ร่างกฎหมายนี้ทำให้ทุกคนขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึก คิดว่าไม่ใช่เงินพ่อแม่

 

          ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายเห็นด้วยกับเนื้อหาที่สภาฯ เสนอต่อวุฒิสภา เพราะมองว่าการศึกษาเป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่ประเด็นการให้กู้ให้ยืมเงิน ทั้งนี้ตนมองว่าการออกกฎหมายกองทุนกู้ยืมเงิน ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่ควรให้เป็นการกู้ยืมเงิน แต่ต้องจัดเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน ทั้งนี้ในช่วงใกล้เลือกตั้งพรรคการเมืองเกทับรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองให้ประชาชนได้มากกว่ารัฐบาล ยิ่งใกล้เลือกตั้งประชาชนจะเลือกใคร ยิ่งภาวะปัจจุบัน อาจถูกกล่าวหาว่าขายชาติ จากนโยบายที่ออกมา ทั้งที่ไม่ได้ขายชาติ ทั้งนี้ตนรับหลักการ และจะแปรญัตติเสนอ ให้รัฐต้องหางานให้ผู้เรียนจบได้ทำเพื่อมีรายได้ มาใช้หนี้ และมีชีวิตอยู่ที่ดีได้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์