เปิด”บันทึก กรธ.” เจตนา รธน.60 ไขปม “นายกฯประยุทธ์” 8 ปี

เปิด”บันทึก กรธ.” เจตนา รธน.60 ไขปม “นายกฯประยุทธ์” 8 ปี

บันทึกประชุม กรธ. ที่อ้างความเห็น "อ.มีชัย-สุพจน์" ว่าด้วยการดำรงตำแหน่ง นายกฯ ของ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า 8ปีที่ นั้น ยังไม่ใช่มติสุดท้าย แต่เมื่อเปิดความมุ่งหมายรธน.รายมาตรา ตอกย้ำให้เห็นข้อเท็จจริง ที่ต้องการไม่ให้ "ใคร" สืบทอดอำนาจ

        ประเด็นข้อถกเถียงต่อวาระการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้าย กำหนดข้อจำกัดของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า ต้องไม่เกิน 8 ปี 

 

        ล่าสุด มีเอกสารเผยแพร่ อ้างอิงความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์  อดีตประธานกรธ. และ สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ. คนที่หนึ่ง ที่สรุปความได้ว่า “การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับด้วย”

 

        ซึ่งถูกเลือกใช้มาเพียง 2 คนจาก กรธ.ที่เข้าร่วมทั้งหมด 19 คน ตามที่บันทึก กรธ. ครั้งที่500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ระบุไว้

 

        ทว่า เมื่อดูไทม์ไลน์ของการบันทึกประชุม ที่ลงไว้ว่า 7 กันยายน 2561 คล้อยหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้มาแล้วกว่า 1 ปี (รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560)

 

        ดังนั้น เรื่องของ 2 ความเห็น นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ “บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ”  เพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เนื้อหาจึงถือว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว 

เปิด”บันทึก กรธ.” เจตนา รธน.60 ไขปม “นายกฯประยุทธ์” 8 ปี

        แต่ในช่วงที่อ้างอิงถึง เป็นช่วงที่ “กรธ.” พิจารณาและจัดทำ "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมูญ 2560”  ตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2560 ถึง  11 กันยายน 2561

        แหล่งข่าวที่อยู่ในวงหารือ เมื่อ 7 กันยายน 2561 เล่าให้ฟังว่า  


        "เอกสารบันทึกการประชุมกรธ. วันที่ 7 กันยายน 2561 จึงเป็นช่วงท้ายๆ ของการจัดทำ และพิจารณาทำความมุ่งหมาย ของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ซึ่งเป็นการยกประเด็นหารือว่า เจตนารมณ์ดังกล่าวจะเกิดอะไรขึ้น และ ครม. มีผลอย่างไร ส่วนเหตุที่ กรธ.ต้องอยู่ต่อหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่า ร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับจะประกาศใช้ ดังนั้นเมื่อทำกฎหมายลูกเสร็จ มีระยะเวลาที่ต้องรอ กรธ.จึงใช้เวลาทำหนังสือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ”

 

        โดยบทบัญญัติมาตรา 264  กำหนด ให้ “ครม.​“ ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็น “ครม.” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก จะเข้ารับหน้าที่ พร้อมกำหนดบทยกเว้นว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ “รัฐมนตรี” ซึ่งอ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

 

        ความมุ่งหมาย ที่ “กรธ.” จัดพิมพ์ในเอกสาร ระบุว่า “กำหนดให้ ครม. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีครม. ชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีคุณสมบติและลักษณะต้องห่ามตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการที่ใช้บังคับกับ ครม. ที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ”

 

        ขณะที่คำอธิบายประกอบ ระบุถูกระบุเป็นข้อๆ จำนวน 4 ข้อ แต่มีข้อที่สำคัญ คือ 1. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยต่อเนื่อง

        อย่างไรก็ดีเอกสารบางส่วนที่ถูกยกมาเป็นประเด็น โดยผสมโรงกับ “ปัญหาทางการเมือง” โดยอ้างถึงมาตรา 158 วรรคท้าย ที่ขีดเส้น “ให้ บุคคลใดที่ดำรงตำแหน่ง นายกฯ จะเป็นนายกฯ เกิน8ปี” ไม่ได้

เปิด”บันทึก กรธ.” เจตนา รธน.60 ไขปม “นายกฯประยุทธ์” 8 ปี

        "แหล่งข่าว ในวงประชุมกรธ.”  เล่าย้อนเหตุการณ์วันนั้นว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงปัญหาทางการเมือง ที่ฝ่ายการเมืองซึ่งอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป อาจทำให้มีปัญหาได้ ดังนั้นจึงควรกำหนดให้อยู่ในตำแหน่ง โดยมีกรอบเวลา เหมือนกับรัฐธรรมนูญบางฉบับก่อนหน้านี้ ที่เขียนไว้ว่า ห้ามเป็นนายกฯ ติดต่อกันเกิน 8 ปี  แต่ในที่ประชุมได้พิจารณาและเพิ่มความเข้มข้น ให้กำหนดเส้นที่ 8 ปี แต่ให้นับรวมในช่วงชีวิตที่เป็นนายกฯ มาแล้ว แม้จะเป็นต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง ต้องนับรวมกัน ให้ไม่เกิน 8 ปี แต่ไม่นับรวมระยะเวลาที่รักษาการ

 

        “การเขียนบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคท้าย ของกรธ. ไม่ได้ตั้งโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะตอนนั้นไม่ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นนายกฯอีกหรือไม หรือจะรับการเสนอชื่อเป็นนายกฯหรือไม่ จึงเขียนบทบัญญัติที่ครอบคลุม โดยไม่สนว่า คุณเป็นนายกฯมาจากรัฐธรรมนูญฉบับใด แต่ในช่วงชีวิตเป็นนายกฯ เต็มที่ได้ 8 ปี”

 

        ส่วน “กรธ.” คนใดที่เสนอ ตัวเลข “8ปี” นั้น  เป็นผลการหารือร่วมกันว่า หากจะเป็นนายกฯ สมัยเดียวเท่านั้นอาจสั้นไป ดังนั้น 2 สมัยน่าจะมีความพอดี 

 

        ขณะที่ความมุ่งหมายของมาตรา 158 ในความของวรรคท้าย ที่กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่หลังพ้นจากตำแหน่ง”

 

        มีสาระสำคัญที่เกี่ยวเนื่องตอนหนึ่งว่า “การกำหนดหลักการใหม่ เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา คือ  8 ปี แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแห่งนายกฯ ของบุคคล แล้วเกิน8 ปี ต้องห้าม ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ”

 

        “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมืองได้”

เปิด”บันทึก กรธ.” เจตนา รธน.60 ไขปม “นายกฯประยุทธ์” 8 ปี

        ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานกรธ. คนที่หนึ่ง ย้ำชัดว่า ในระหว่างการประชุม กรธ.สามารถมีความเห็นส่วนตัวได้ เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงเริ่มแรก ซึ่งไม่ใช่มติ แต่ได้ให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้  ไว้ว่า การนับวาระ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ นับปีแรก ในวันที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ 9 มิถุนายน 2562”

 

        แต่เรื่องนี้ คนที่มีอำนาจ วินิจฉัย และชี้ได้ชัดเจนที่สุด  “ศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นขอให้ไปจบที่สาลรัฐธรรมนูญ.