คุยกับ “ธัญวัจน์” เจาะลึก! ร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม”

คุยกับ “ธัญวัจน์” เจาะลึก! ร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม”

หลังจากถูกเลื่อนการพิจารณามาหลายครั้ง ล่าสุดร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม” จะกลับเข้าสภาอีกในวันนี้ และถือเป็นความหวังครั้งสำคัญของ “ธัญวัจน์” ว่า หากร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านจะทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นจริงในสังคม

"พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม" ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่านายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะเตรียมข้อมูลมาพร้อมสำหรับการอภิปรายกับรัฐสภาเพื่อให้สภาลงมติเห็นชอบในวาระแรก หลังจากถูกเลื่อนการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง

แต่สุดท้ายก็เหมือนกับครั้งก่อนๆ คือไม่ได้อภิปรายเนื่องจากมีอภิปรายในหัวข้อก่อนหน้าที่มีเนื้อหายาว ทำให้ต้องเลื่อนมาอภิปรายในวันที่ 15 มิ.ย.

“ถ้าคุณโหวตสมรสเท่าเทียม มันไม่ใช่แค่กฎหมายผ่าน หรือการยอมรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าคุณโหวตให้กฎหมายคู่ชีวิตผ่าน มันยังเท่ากับคุณยอมรับ LGBTQ+ นะ แต่คุณยังยอมรับแบบมีเงื่อนไข" 

คือสิ่งที่ธัญวัจน์ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" เกี่ยวกับการโหวตรับหรือไม่รับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และถึงแม้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะส่อเค้าว่าโดนคว่ำ แต่ธัญวัจน์ก็ยังเชื่อว่านี่คือความหวังของสังคม

คุยกับ “ธัญวัจน์” เจาะลึก! ร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม” นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

  • อนาคตของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

ธัญวัจน์ มองว่า สภาผู้แทนราษฎรคือความหวังของทุกคนในประเทศ และสำหรับในวันนี้ ตนมองว่ามีความหวังแน่นอน ต้องมีความหวังเพราะในการทำงานครั้งนี้ได้มีโอกาสคุยกับ ส.ส. หลายคนแม้ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลเองก็ได้อธิบายไปว่าสมรสเท่าเทียมคืออะไร และเป็นสิ่งที่ LGBTQ+ รอคอยมานานมาก

จากที่ได้พูดคุยกับ ส.ส. จำนวนหนึ่ง ก็มีหลายคนที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นี้ แต่ถ้าเป็นในทางการเมืองก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นอย่างไร อย่างเช่น การอภิปรายเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการอภิปรายเรื่องอื่นยาวเกินไปทำให้เรื่องสมรสเท่าเทียมยังไม่สามารถเข้าสภาได้ และนำมาสู่การที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งตนมองว่าเสนอมาเพื่อจะประกบกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

  • ทำไมถึงเป็น “สมรสเท่าเทียม”

ธัญวัจน์กล่าวว่า การสมรสเท่าเทียมนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้กับประชาชน ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัว นอกจากนั้นจำนวนของ LGBTQ+ ตามข้อมูลของ LGBT Capital ที่ประมาณการไว้ว่า กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน และต่อไปอาจมีมากถึง 8 ล้านคน

หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีสิทธิก่อตั้งครอบครัวเหมือนกับชายหญิงทั่วไป เพราะการก่อตั้งครอบครัวถือว่าเป็นสิทธิพลเมือง และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องมีจากรัฐ

  • ร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเตะถ่วงและเกมการเมือง

ก่อนหน้านี้ ร่าง "พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม" ถูกกีดกันจากสภาหลายครั้ง และครั้งล่าสุดเห็นได้ชัดจากการอภิปรายเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก็ถือเป็นหนึ่งในข้อสังเกตว่าทำไมร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ มีการอภิปรายนานมาก มีการพูดวนซ้ำไปมา เพราะการใช้เวลาในสภาสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องนำเสนอประเด็นที่ไม่ควรต้องพูดซ้ำกันเยอะเพราะจะทำให้เสียเวลา เนื่องจากสภายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่รออยู่

ดังนั้นจึงถูกตั้งข้อสังเกตจากการที่ ร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ ใช้เวลามาก แต่ธัญวัจน์ ก็ยอมรับว่า นั่นเป็นสิทธิของ ส.ส. แต่ละคนที่จะลุกขึ้นอภิปราย แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า การที่ดึงเวลาให้สมรสเท่าเทียมไม่ได้เข้าสภา อาจจะทำให้รัฐบาลสามารถยื่น พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้ามาได้ทันเพื่อมาประกบกับสมรสเท่าเทียม

  • ถ้ามี พ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ?

ธัญวัจน์มองว่าเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ เพราะจากการที่ตนติดตามข่าวและติดตามประเด็นนี้ตลอด จะเห็นได้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความพยายามเป็นอย่างมากในการพูดถึงคู่ชีวิต และพยายามที่จะผลักดันให้ผ่านสภาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ตนทำงานตั้งแต่ช่วงที่เป็น ส.ส. ใหม่ ๆ ก็ได้เห็นการร่าง พ.ร.บ. นี้แล้ว ซึ่งตนเองและภาคประชาชนก็ได้เคยยืนยันไปแล้วว่าต้องการ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

ซึ่งก่อนที่ตนจะยื่นเรื่องนี้เข้าสภาก็ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันมามากแล้ว แต่ไม่ว่าประชาชนจะพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมอย่างไร ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังยืนยันว่าจะชูร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตอยู่ ดังนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะนำ พ.ร.บ. คู่ชีวิต มาปัดให้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ตกไป

แต่ว่าทางออกสำหรับตนนั้นคิดว่า การโหวตสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตนั้น ถือได้ว่าเป็นการพิสูจน์ความจริงใจต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องตัดสินใจว่าจะเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดัน และจริงๆ มันกระทบโดยตรงต่อ ส.ส. แต่ละคน หากไม่มี ส.ส. โหวตสมรสเท่าเทียม ตนมองว่ามันจะเป็นประวัติที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในชีวิต ส.ส. ในประเทศนี้หรือในโลกนี้

  • กระแสยอมรับสมรสเท่าเทียมแต่ไม่เอาคู่ชีวิต ?

สำหรับกระแสนี้ธัญวัจน์มองว่า เป็นกระแสสังคมที่แรงมาก เพราะเป็นกระแสที่สนับสนุนในสิ่งที่ตนพยายามผลักดันในเกิดความเท่าเทียม และมองว่า การปัดตก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ก็อาจจะมีราคาที่ต้องจ่าย ประชาชนที่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียมก็อาจจะลุกขึ้นมา ส.ส. ที่ไม่ได้โหวตสมรสเท่าเทียมก็อาจจะต้องได้รับแรงกระแทกจากเสียงของประชาชนโดยตรง เพราะว่าพวกเขามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

  • ทำไมต้องทำความเข้าใจ LGBTQ+

ความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะทุกคนมีเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เขาอาจจะเคยเสียใจ เคยมานั่งปรึกษา เคยมาแชร์เรื่องราวในชีวิต หลายคนอาจจะมีเจ้านายหรือลูกน้องที่มีความหลากหลายทางเพศ หรืออาจจะมีญาติที่เป็น LGBTQ+

ดังนั้นแม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่ในสังคมก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กัน เรื่องความเข้าใจกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นประเด็น LGBTQ+ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องเข้าใจ และเมื่อคุณเข้าใจก็จะรู้ว่า สิทธิพลเมือง สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของ LGBTQ+ ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่มองเห็นพวกเขา