ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้ากับ EFTA 20 มิ.ย.นี้

ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้ากับ EFTA 20 มิ.ย.นี้

​ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้า กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างกัน 20 มิ.ย.นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA)

ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย กระทรวงพาณิชย์จึงได้หารือร่วมกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เพื่อจัดทำร่างกรอบการเจรจาขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญมีดังนี้

1) การค้าสินค้า มุ่งเน้นการลด/ยกเลิกอุปสรรคด้านภาษี

2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความโปร่งใส 

3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 

4) มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กำหนดมาตรการเพื่อปกป้องและเยียวยาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จัดตั้งกลไกการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือ

6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาและอุปสรรค

7) การค้าและบริการ กำหนดกฎเกณฑ์การค้าบริการที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล และให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

8) การลงทุน เปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

9) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

10) ทรัพย์สินทางปัญญา ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของไทย

11) การแข่งขัน ส่งเสริมให้มีนโยบายด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม

12) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ส่งเสริมให้มีความโปร่งใส

13) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

14) ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านเทคนิคและด้านเศรษฐกิจ

15) ข้อบททั่วไป ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้ความตกลง

16) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ให้จัดตั้งกระบวนการระงับข้อพิพาท เปิดโอกาสให้ใช้อนุญาโตตุลาการสาหรับกรณีพิพาทที่ภาคีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ปัญหากันด้วยการหารือได้

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงการค้ากับ EFTA แล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งออกสินค้า และการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ EFTA ได้มากขึ้น เช่น สินค้าเกษตร (ข้าว ข้าวโพดหวาน เนื้อสุกร) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และมีสินค้าที่จะเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี พลังงานสะอาด เป็นต้น

ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.179 ต่อปี ได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,269 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบกับบางภาคส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้และผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับมาตรฐานกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น  ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการดูแลและเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ ส่งผลให้ไทยมีการค้ากับประเทศที่มี FTA ครอบคลุม ร้อยละ 64 ของการค้าทั้งหมดของประเทศ