ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน

ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน

การมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยือนน่าจะเป็นโอกาสดีให้รัฐบาลได้ลับสมองกับโจทย์ยากก่อนเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ ทำอย่างไรถึงจะนำพาเศรษฐกิจชาติให้รอดพร้อมๆ กับดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี่คืออีกหนึ่งมาตรวัดฝีมือนายกฯ

“ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน” เป็นคำพูดที่ไม่เกินเลยไปนักหลังจากได้ยินนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงวานนี้ (28 เม.ย.) ว่า นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) ระหว่างวันที่ 1 - 2 พ.ค.2565

การเยือนครั้งนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีคิชิดะภายหลังเข้ารับหน้าที่ และเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปี ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นับตั้งแต่การเยือนของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ เมื่อปี 2556

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสพิเศษเพราะปีนี้ ครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและญี่ปุ่น รวมถึงอยู่ในห้วงที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น (ปี 2564 - 2567) ตลอดจนเป็นโอกาสที่ไทยจะยืนยันความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในช่วงปลายปี

นั่นคือความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น แต่หากมองให้กว้างออกไปอีกนิด ทริปนี้นายกฯ ญี่ปุ่นเยือนห้าประเทศในเวลาแปดวัน ออกเดินทางจากญี่ปุ่นวันนี้ (29 เม.ย.) มุ่งหน้าสู่อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกปฏิบัติภารกิจที่นั่นสองวัน

หลังจากนั้น 30 เม.ย. - 1 พ.ค. ไปเยือนเวียดนามตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ซึ่งนับตั้งแต่นายกฯ คิชิดะ รับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 นายกฯ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เข้าพบ เสร็จจากเวียดนามจึงมาเยือนไทย ภารกิจของนายกฯ ญี่ปุ่นรอบนี้ ถือเป็นการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 2 ของปี หลังจากไปเยือนกัมพูชาประธานอาเซียนในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จะว่าไปแล้วปีนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเจ้าภาพงานใหญ่สองงานในเวลาไล่เลี่ยกัน วันที่ 15-16 พ.ย. อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำจี20 ที่เกาะบาหลี ตามมาติดๆ ด้วยการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้

สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งสองเวทีเป็นแหล่งรวมประเทศมหาอำนาจที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ ถ้าให้ระบุชื่อไปเลยก็รัสเซียกับสหรัฐพ่วงด้วยพันธมิตรทั้งในยุโรปและเอเชียแปซิฟิก งานนี้ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเดิมทีเคยมองโจทย์แค่เป็นการประชุมหลังโควิด กลายเป็นว่ามีปัจจัยรัสเซียรุกรานยูเครนเข้ามาซ้ำเติม เรียกได้ว่ากว่าจะถึงเดือน พ.ย. อะไรๆ ก็ยังไม่แน่นอน ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ 

การเจรจาความเมืองไม่ว่าจะระดับทวิภาคีหรือพหุภาคีแน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ แต่ยุคนี้ความเป็นพลเมืองโลกที่ดีต้องดำเนินควบคู่กันไป ภายใต้สถานการณ์โลกพลิกผันทั้งมิติเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์การมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยือนน่าจะเป็นโอกาสดีให้รัฐบาลได้ลับสมองกับโจทย์ยากก่อนเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ ทำอย่างไรถึงจะนำพาเศรษฐกิจชาติให้รอดพร้อมๆ กับดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี่คืออีกหนึ่งมาตรวัดฝีมือนายกฯ