วัตถุประสงค์ของการประกันภัย | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

วัตถุประสงค์ของการประกันภัย | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

ในยุคปัจจุบันที่ทุกคนมักประสบกับความเสี่ยงภัยและภัยพิบัติจากสิ่งต่างๆ รอบตัวนั้น ส่งผลทำให้การประกันภัยได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจจัดทำสัญญาประกันภัย เพื่อกระจายความเสี่ยงภัยของตนเองและบรรเทาผลร้ายจากภัยพิบัติต่างๆ 

หากพิจารณาย้อนกลับไปหาวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการประกันภัยแล้วจะพบว่า การประกันภัยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลายประการ

ผู้เขียนได้หยิบยกวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ความมั่นคงแก่คู่สัญญา การลดความสูญเสีย การกระจายความเสี่ยงระหว่างกัน การลดความวิตกกังวลและความกลัว การสร้างเงินทุนและการเคลื่อนย้ายเงินออม เพื่อกล่าวถึงโดยสรุปดังนี้

1.การให้ความมั่นคงแก่คู่สัญญา เมื่อเกิดความสูญเสียและความเสียหาย ผู้รับประกันภัยสัญญาว่าจะคุ้มครองความเสียหายจากความสูญเสียและความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย

และผู้เอาประกันภัยสัญญาว่าจะชำระเบี้ยประกันภัยเป็นการตอบแทน หากเกิดความสูญเสียและความเสียหายตามที่ตกลงกันในสัญญาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่ตกลงกัน

ด้วยผลของการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้เอาประกันภัยเกิดความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์ที่เอาประกันภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ผู้รับประกันภัยจะเข้ามารับภาระในความเสียหายที่เกิดขึ้นแทนผู้เอาประกันภัย

2.การลดความสูญเสีย หากเกิดความสูญเสียและความเสียหายตามที่ตกลงกันในสัญญาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่ตกลงกัน

ความเสียหายหรือความสูญเสียดังกล่าวนี้อาจเป็นความเสียหายและความสูญเสียของชีวิต อนามัย ทรัพย์สิน ความรับผิดชอบหรือความเสียหายและความสูญเสียตามที่ตกลงกันในสัญญาประกันภัย

 เช่น สัญญาประกันวินาศภัยกรณีอัคคีภัย กำหนดให้ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากเหตุอัคคีภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเป็นเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยได้ 20 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ของการประกันภัย | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

3.การกระจายความเสี่ยงระหว่างกัน ในทางหลักการแล้วผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประกันภัยเพื่อลดความสูญเสียและสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง เมื่อเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายตามสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความสูญเสียหรือความเสียหายดังกล่าว

แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้เอาประกันภัยจำนวนหลายแสนรายของผู้รับประกันภัย จะเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายอย่างพร้อมเพรียงในเวลาเดียวกัน

 ดังนั้น ผู้รับประกันภัยอาจต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความสูญเสีย หรือความเสียหายเป็นจำนวนหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความสูญเสีย หรือความเสียหายเป็นจำนวนหนึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากมิได้เกิดภัยพิบัติขึ้นตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น จึงเป็นตามหลักการกระจายความเสี่ยงระหว่างกัน

4.การลดความวิตกกังวลและความกลัว การที่ผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่ตกลงกัน หากเกิดภัยพิบัติตามที่ตกลงกันในสัญญาประกันภัยยังช่วยทำให้ผู้เอาประกันภัยลดความวิตกกังวลและความกลัวในความไม่แน่นอนของการดำเนินชีวิต

เนื่องจากนอกจากการเกิดภัยพิบัตินำมาซึ่งความเสียหายทางทรัพย์สิน ชีวิตหรืออนามัยของผู้เอาประกันภัยแล้ว ยังเป็นผลทำให้บั่นทอนกำลังใจและจิตใจของผู้เอาประกันภัยอีกด้วย 

การทำสัญญาประกันภัยและการเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นแทนผู้เอาประกันภัย จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลและความกลัวของผู้เอาประกันภัย

วัตถุประสงค์ของการประกันภัย | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

5.การสร้างเงินทุน เมื่อผู้เอาประกันชำระค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว หากผู้รับประกันภัยตกลงรับทำสัญญาประกันภัยก็จะมีการออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป

ดังนั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละรายอาจมีผู้เอาประกันภัยที่เป็นลูกค้าทำสัญญาประกันภัยเป็นจำนวนมากหรือเป็นจำนวนหลายแสนกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเท่ากับว่าผู้รับประกันภัยได้รับเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน 

เงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยได้รับมานี้ นอกจากผู้รับประกันภัยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการประกันภัยแล้ว ยังนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ หรือหลักทรัพย์ใดๆ เพื่อหวังผลในการได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผล

ดังนั้น การชำระค่าเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัยจึงทำให้เกิดการระดมเงินทุนจากผู้เอาประกันภัยไปสู่ผู้รับประกันภัยได้เช่นเดียวกัน

6.การเคลื่อนย้ายเงินออม การทำสัญญาประกันภัยเป็นหนทางการออมเงินของผู้เอาประกันภัย อีกทางหนึ่ง เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยบางประเภทมีข้อกำหนดว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในจำนวนหนึ่งภายในห้วงระยะเวลาหนึ่ง และมิได้เกิดภัยพิบัติขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันภัย

เมื่อสิ้นสุดสัญญาประกันภัยแล้วผู้รับประกันภัยจะมอบเงินจำนวนหนึ่งคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยพร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามที่ตกลงกันในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย

 ดังนั้น การที่ผู้เอาประกันตัดสินใจสัญญาประกันภัยตั้งแต่ต้น นอกจากจะเป็นการลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการลดความวิตกกังวลและความกลัวแล้ว ผู้เอาประกันภัยยังคาดหวังเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนที่เกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดสัญญาประกันอีกด้วย

ลักษณะเช่นนี้การชำระค่าเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย จึงเป็นเสมือนการชำระเงินออมหรือเคลื่อนย้ายเงินออมของตนให้แก่ผู้รับประกันภัย

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การประกันภัยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่สำคัญหลายประการ และวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่สำคัญเหล่านี้ส่งผลดีทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยและครอบครัว ผู้รับประกันภัยในฐานะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงปลอดภัยของสังคม.