สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง

สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง

สทนช. พบไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนจนถึง 30 มี.ค. นี้ ก่อนฝนจะกลับมาช่วยลดร้อนอีกครั้งช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. 67 พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง

วันนี้ (27 มี.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง

โดยเลขาธิการ สทนช.  เปิดเผยผลการประชุมว่า จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. พบว่า ในระยะนี้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน โดยตั้งแต่วานนี้ (26 มี.ค. 67) มีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหลังจากนี้ยังมีโอกาสจะเกิดฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงในวันที่ 30 มี.ค. 67 ก่อนจะมีแนวโน้มที่ฝนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ปริมาณฝนจะเริ่มตกมากตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 67 แต่คาดว่าอาจจะเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงได้ประมาณเดือน ก.ค. 67 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง

“แม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบกับสภาวะเอลนีโญซึ่งทำให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันในการกักเก็บปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้ปัจจุบันปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั้งประเทศมีปริมาณ 60% ของความจุ ซึ่งน้อยกว่า ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 4% แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ

สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง

แต่สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเกินแผน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีการจัดสรรน้ำเกินแผนที่วางไว้ กรมชลประทานได้เสนอขอปรับแผนการจัดสรรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันนี้ และขอเน้นย้ำว่ายังจำเป็นต้องมีการรณรงค์งดทำนาปรังรอบที่ 2 อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต นอกจากนี้ ในการประชุม กนช. วันนี้ สทนช. จะเสนอ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 เพื่อเร่งเตรียมพร้อมรองรับฤดูฝนที่คาดว่าจะเกิดสภาวะลานีญาด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ซึ่ง สทนช. ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26 – 31 มี.ค. 67 บริเวณสถานีเชียงแสน จ.เชียงราย สถานีเชียงคาน จ.เลย และตั้งแต่สถานีหนองคาย จ.หนองคาย จนถึงสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี เนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าระดับน้ำจะมีการเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.3 – 0.7 ม. ซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนัก โดยจากการติดตามสำรวจ ขณะนี้ไม่พบว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบ แต่จะยังคงมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในการประชุมวันนี้ สทนช. ยังได้ติดตามปัญหาการเจริญเติบโตของสาหร่ายในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา โดยการประปานครหลวงได้มีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำและบำบัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ที่มีความสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน

สทนช. ชี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน ถึง 30 มี.ค.67 พร้อมเฝ้าระวังน้ำโขง