ศึกษากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทจากคำพิพากษาศาลฎีกา(1)

ศึกษากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทจากคำพิพากษาศาลฎีกา(1)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท เป็นกฎหมายในการจัดตั้งและเป็นกฎกติกาของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ส่วนการจัดตั้งและกฎกติกาของบริษัทบริษัทมหาชนจำกัด เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535

บทความต่อไปนี้จะเป็นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ลักษณะหุ้นส่วน เรียงมาตราและเฉพาะมาตราที่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องสู่การพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาลฎีกา

หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

มาตรา 1012  อันสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการนั้น

  - คำพิพากษาฎีกาที่ 574/2473 จางวางทั่ว พาทย์โกศล โจทก์ พระศรีสูเรน กับพวก จำเลย

ร่วมทุนกันเปียหวย โดยมีการได้เสียร่วมกันนั้น เป็นหุ้นส่วน เข้าบทมาตรา 1012 เพราะเข้าทำกิจการเพื่อประสงค์จะแบ่งกำไรกัน

  - คำพิพากษาฎีกาที่ 969/2489 นายสงวน บุณยรักษ์ โจทก์ นายประมุข ปิยะสุวรรณ จำเลย

ทำสัญญาซื้อที่ดินเพื่อมาแบ่งกัน เมื่อคนหนึ่งไปจัดการซื้อและรับโอนโฉนดมาแล้วไม่ยอมโอนแบ่งให้ อีกฝ่ายฟ้องขอแบ่งได้

สัญญาเข้าทุนไปซื้อทรัพย์มาแบ่งกันโดยไม่ประสงค์แบ่งกำไรนั้น ไม่ใช่สัญญาเข้าหุ้นส่วน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 258/2494  พระยาปรีดานฤเบศร์ โจทก์ นายสุยง พันธุ์ฟัก จำเลย

“เจ้าของร่วม” กับ “หุ้นส่วน” ต่างกันในข้อสำคัญที่ว่า การเข้าร่วมกันนั้นเพื่อกระทำกิจการด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำหรือไม่ ถ้าไม่ประสงค์เช่นนั้นก็ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของร่วม แต่ถ้ามีการกระทำกิจการค้าด้วยประสงค์เช่นว่านั้นก็เป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของร่วมด้วยในตัว

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2519 นางชุ้น แก้วน้อย โจทก์ นายอ่อน แก้วน้อย ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน จำเลย

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์แต่งงานอยู่กินเป็นสามีภริยากับ พ. แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์มีสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำติดตัวมาแต่ได้ขายเป็นทุนทำกินร่วมกับ พ.ทั้งหมด ส่วน พ.มีที่นา 1 แปลง โจทก์ได้ทำกินร่วมกับ พ. โจทก์กับ พ.จึงเป็นหุ้นส่วนกัน ต่อมา พ.ตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินกึ่งหนึ่งดังนี้ 

แม้โจทก์จะมีทรัพย์ติดตัวมาด้วยเมื่อมาอยู่กับ พ.ก็ตาม แต่เมื่อนาพิพาทมิใช่ทรัพย์ที่ได้มาระหว่างอยู่กินกับ พ. ที่พิพาทจึงมิใช่ผลประโยชน์ที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างโจทก์กับ พ. อันจะถือได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และการอยู่กินกันฉันสามีภรรยาระหว่างโจทก์กับ พ.ตามที่บรรยายมาในฟ้องก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทรายนี้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14429/255 การสื่อสารแห่งประเทศไทย โจทก์ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับพวกจำเลย

โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์พื้นฐานเข้ากับชุมสายโทรศัพท์แบบอัตโนมัติของโจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงเข้าร่วมงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่โทรศัพท์นครหลวงจำนวนสองล้านเลขหมาย

โดยจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันจากส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการ เช่น ค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าเช่าเลขหมายโทรศัพท์ ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ถือได้ว่าเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด ตามมาตรา 1025 

แม้สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายกิจการจะระบุว่า บรรดาความรับผิดชอบที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่มีผลผูกพันกับโจทก์

ศึกษากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทจากคำพิพากษาศาลฎีกา(1)

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14968/2558 นายสมชาย อรุณศรี โจทก์ นายสุรพล ผิวบาง จำเลย

โจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาด เพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้น ดังนี้ ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้ว เข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 และ 1025 ที่บัญญัติว่า 

สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน คือ สัญญาซึ่งบุคคลสองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งสิ่งที่นำมาลงหุ้นนั้นจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรือแรงงานก็ได้ ตามมาตรา 1026 วรรคสอง

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724_5725/2560 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย

การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน 

แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ คงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที

รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน

  หมายเหตุ : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เคยมีแนวคิดที่จะตรากฎหมายให้บุคคลคนเดียวสามารถจัดตั้งบริษัทได้ แต่ไม่อาจตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้เป็นบทบัญญัติของ ป.พ.พ.ลักษณะ 22 เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาที่ต้องมีคู่สัญญาตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 1012 จึงต้องดำเนินการโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายพิเศษขึ้น 

คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทโดยบุคคลคนเดียว ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีจนเข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับหุ้นส่วน บริษัทและองค์กรธุรกิจ

ปรากฏว่าในชั้นการพิจารณาดังกล่าว พบว่ามีปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติมากกว่าที่คาดคิดไว้ ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจแจ้งว่าจะนำไปเสนอผู้บังคับบัญชา พิจารณาทบทวนหรืออาจถอนเรื่องไปก่อน ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า.