โควิด-19 Long COVID อัปเดตความรู้ อาการในผู้ใหญ่-เด็ก และการรักษา
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" ประเด็นอัปเดตเรื่องความรู้ อาการและการรักษาลองโควิด (Long COVID)
(14 มกราคม 2566) นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" ประเด็นอัปเดตเรื่องความรู้ อาการและการรักษาลองโควิด (Long COVID)
อัปเดตความรู้ Long COVID
ทีมงานของ Topol E ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่บทความวิชาการที่ทบทวนองค์ความรู้จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับ Long COVID ในวารสารระดับสากล Nature Reviews Microbiology เมื่อวานนี้ 13 มกราคม 2566
อาการและพยาธิสภาพในระบบต่างๆ
Long COVID นั้นทำให้เกิดอาการผิดปกติ และเกิดพยาธิสภาพได้ในทุกระบบของร่างกาย โดยมีงานวิจัยทั่วโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ตั้งแต่ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร สมองและระบบประสาท ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์
กลไกที่ทำให้เกิด Long COVID
ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเกิดได้จากหลายกลไก ได้แก่
1.การทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยอาจมีการกระตุ้นให้ไวรัสบางชนิดที่มีการติดเชื้อแฝงอยู่มีการกำเริบขึ้น เช่น ไวรัสตระกูล herpervirus (EBV, HHV-6)
2.การเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในร่างกายจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานของระบบต่างๆ
3.การกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง
4.การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และการเกิดความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือด
5.ความผิดปกติของการสื่อกระแสประสาท
ความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19
ปัจจุบันหลักฐานวิชาการแพทย์ทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่า การติดเชื้อนั้น ไม่ว่าจะติดครั้งแรกหรือติดซ้ำ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เสียชีวิต รวมถึงความผิดปกติแบบ Long COVID ต่างๆ ตามมาได้ในหลากหลายระบบของร่างกายภายหลังจากผ่านพ้นการติดเชื้อระยะแรกมาแล้ว
ณ วินาทีนี้้ ยังไม่มีวิธีรักษา Long COVID ที่จำเพาะเจาะจง มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐาน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลตนเอง ไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อซ้ำ
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ลงมาได้บ้าง
อ้างอิง
Davis HE et al. Long COVID: major findings, mechanisms and recommendations. Nature Reviews Microbiology. 13 January 2023.
Long COVID ในเด็ก
งานวิจัยล่าสุดโดยทีมงานจากสวิตเซอร์แลนด์ ทบทวนข้อมูลวิชาการจากงานวิจัย 53 ชิ้นทั่วโลก โดยเกือบครึ่งหนึ่งมาจากประเทศรายได้สูง/ประเทศพัฒนาแล้ว
เฉลี่ยแล้วโอกาสเกิดน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยมีโอกาส Long COVID ในเด็กเกิดประมาณ 5% ส่วนในเรื่องการติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงนั้น มักเกิดในเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน เป็นต้น
ในขณะที่การติดเชื้อแพร่เชื้อนั้น สถานที่ดูแลเด็กมักมีการแพร่กันได้มากในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีประวัติไม่ได้วัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ
สรุปแล้วก็สอดคล้องกับความรู้ที่เราทราบกัน
การป้องกันลูกหลานไม่ให้ติดเชื้อ ป่วย เสียชีวิต และประสบกับ Long COVID นั้น จำเป็นจะต้องดูแลทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน ฝึกฝนและกระตุ้นเตือนเรื่องสุขอนามัยในโรงเรียน จัดการสิ่งแวดล้อมและการระบายอากาศ รวมถึงการป้องกันตัวของทั้งเด็กและบุคลากรไปพร้อมกัน
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำจะดีที่สุด
เพราะแม้จะมีโอกาสป่วยรุนแรงและ Long COVID น้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่หากเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ คุณภาพชีวิต และมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของทั้งเด็กและครอบครัว
อ้างอิง
Wiedenmann M et al. The role of SARS-CoV-2 variants of concern in children and adolescents with COVID-19: a systematic review. medRxiv. 12 January 2023.