ปภ. เตือน 30 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำหลาก ช่วงวันที่ 17-20 ก.ย. 65
ปภ. แจ้ง 30 จังหวัด ภาคเหนือ กลาง อีสาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. 65
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 65 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสถานการณ์ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง น้ำท่า และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 39/2565 ลงวันที่ 14 กันยายน 2565 แจ้งว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 17 - 20 กันยายน 2565 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือได้แก่ เชียงใหม่ (อำเภอเวียงแหง อมก๋อย) แพร่ (อำเภอร้องกวาง) น่าน (อำเภอปัว บ่อเกลือ) ลำปาง (อำเภอแจ้ห่ม เมืองฯ เกาะคา) กำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน) ตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง วังเจ้า เมืองฯ) อุตรดิตถ์ (อำเภอฟากท่า) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย) และเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก เมืองฯ วิเชียรบุรี)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย (อำเภอวังสะพุง) บึงกาฬ (อำเภอโซ่พิสัย) ขอนแก่น (อำเภอหนองเรือ บ้านฝาง เมืองฯ พระยืน มัญจาคีรี) กาฬสินธุ์ (อำเภอยางตลาด) ชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร หนองบัวแดง) อำนาจเจริญ (อำเภอเสนางคนิคม ชานุมาน) อุบลราชธานี (อำเภอเมืองฯ ดอนมดแดง สว่างวีระวงศ์ พิบูลมังสาหาร เขมราฐ) ยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย) นครราชสีมา (อำเภอโนนไทย โนนสูง เมืองฯ) และศรีสะเกษ (อำเภอราษีไศล)
ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี) ราชบุรี (อำเภอบ้านคา) เพชรบุรี (อำเภอหนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน) ประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน) จันทบุรี (อำเภอนายายอาม ท่าใหม่ เมืองฯ แหลมสิงห์ ขลุง) และตราด (อำเภอเขาสมิง แหลมงอบ เมืองฯ คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด)
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมากิ่วลม และแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้แจ้งให้ 30 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ระบายน้ำ และพร่องน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและชุดปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป