BTS ฟ้องศาลปกครองสูงสุด รฟม. 'ล้ม' ประมูลสายสีส้ม

BTS เตรียมพิจารณายื่นอุทธรณ์การจำหน่ายคดีสายสีส้มต่อศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งฟ้องเพิ่มกรณีรฟม.ล้มประมูลและเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ส่วนฟ้องอาญา หากวันที่ 15 มีนาคม ศาลรับไต่ส่วน เตรียมส่งข้อมูลหลังพบการดำเนินการของผู้ว่ารฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 พบ

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ระบุ บีทีเอสอยู่ระหว่างการปรึกษาทนาย เพื่อเตรียมพิจารณาการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดี หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้ถอนอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์พิจารณาการให้คะแนนเทคนิคควบคู่กับราคา

บีทีเอส มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่าจะอุทธรณ์คำสั่งการจำหน่ายคดีได้ภายในระยะเวลา 30 วัน หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพราะมองว่าการดำเนินการดังกล่าวของรฟม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล การล้มประมูลโดยไม่รอคำสั่งศาล และล่าสุดกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่

บีทีเอสยังพิจารณาที่จะฟ้องศาลปกครองเพิ่มเติมในส่วนของการล้มประมูลและการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ ซึ่งมีระยะเวลา 90 วัน ที่บีทีเอสมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ เพราะมองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการยื่นเรื่องฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลนัดฟังผลการพิจารณารับไต่สวนในวันที่ 15 มีนาคมนี้

สำหรับ การพิจารณาว่าจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีการเปิดประมูลใหม่และมีการใช้เกณฑ์การพิจารณาคะแนนเทคนิคและราคาควบคู่กันหรือไม่นั้น ต้องขอรอพิจารณาเงื่อนไขการประมูล หรือ RFP ที่ออกมาก่อนว่าหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร เพราะถ้าหากว่าหลักเกณฑ์ที่ออกมาแล้วพบว่าประมูลอย่างไร ก็แพ้ เพราะหลักเกณฑ์ไม่เป็นธรรม ก็ไม่รู้จะเข้าร่วมทำไม ซึ่งบีทีเอส คงต้องเสนอบอร์ดและฝ่ายบริหารพิจารณา

ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขประมูล โดยกำหนดให้คะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน เป็นการใช้ดุลพินิจมากเกินไป และอาจทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากกว่าการประมูลแบบใช้ราคาพิจารณาอย่างเดียว และหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีการใช้เกณฑ์ราคาพิจารณาอย่างเดียว

ส่วน พันธมิตรในการร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ทางบีทีเอสยังคงจับมือบมจ. ชิโน-ทัย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เหมือนเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลง

+++ ยัน 'รื้อ' TOR ต้องให้ครม.เห็นชอบ +++

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า การที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีข้อพิรุธหลายประการตั้งแต่การเร่งรีบเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล โดยใช้ระยะเวลา 16 วัน เป็นการทำลายระบบและไม่เป็นไปตามพรบ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลหลังเปิดขายซองไปแล้ว เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงต้องเสนอ ครม. เห็นชอบก่อน เพราะเป็นเจ้าของโครงการตัวจริง

ส่วนการล้มประมูลและเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ รฟม.ก็ไม่มีสิทธิ์เช่นกัน โดยอ้างข้อสงวนใน RFP ไม่ได้ เนื่องจากสิทธิ์ที่ใช้ไม่ได้มาซึ่งอำนาจอย่างถูกต้อง เพราะการยกเลิกประมูลจะต้องเกิดขึ้นกรณีที่การประมูลนั้นไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล หรือมีการเสนอราคาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งจะหากทำให้ถูกต้องรฟม.ต้องไปเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา และเสนอครม.เห็นชอบก่อน แต่รฟม.กลับไม่ดำเนินการ

รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คนก่อนหน้านี้ ที่ทำเกินอำนาจหน้าที่ของสคร. และคิดว่าปีนี้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มก็คงไม่ได้ข้อยุติ หากรฟม.ยังดันทุรังเปิดประมูล ไม่ยุติเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง

บริษัทฯได้ฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ไว้แล้ว และจะรอฟังผลในวันที่ 15 มีนาคม ว่าศาลรับไต่ส่วนหรือไม่