พลังงาน-ปตท.เร่งเคลียร์ปมแหล่งเอราวัณ จัดแผนรับมือเข้าพื้นที่ล่าช้า

พลังงาน-ปตท.เร่งเคลียร์ปมแหล่งเอราวัณ จัดแผนรับมือเข้าพื้นที่ล่าช้า

กระทรวงพลังงาน-ปตท.เร่งแก้ปัญหาปิโตรฯ เตรียมแผนรับมือเข้าแหล่งเอราวัณล่าช้า ปตท.สผ.เหลือเวลาเตรียมตัว 1 ปี ก่อนเริ่มสัญญาใหม่ เตรียมแผนรับมือกรณีเข้าพื้นที่ล่าช้า

การประมูล 2 แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในอ่าวไทย คือ แปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) และ แปลง G2/61(แหล่งบงกช) ซึ่งภาครัฐสรุปผลการประมูลตั้งแต่ปลายปี 2561 และนำไปสู่การลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ในกลุ่ม ปตท.สผ.) และพันธมิตรร่วมลงทุนคือ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

โดยเป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562 เพื่อให้ผู้ดำเนินการ (Operator) รายใหม่ มีเวลาเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี สำหรับรักษาอัตราการผลิตก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งให้เกิดความต่อเนื่อง ในช่วงเปลี่ยนมือการบริหารจากผู้รับสัมปทานรายเดิมไปสู่รายใหม่ตามกำหนดหลังสัมปทานหมดอายุในช่วงเดือน เม.ย.2565 

ขณะนี้เหลือเวลาดำเนินการเพียง 1 ปีเท่านั้น ก็จะสิ้นสุดอายุสัมปทานเดิมของทั้ง 2 แหล่งก๊าซ แต่ปัจจุบันนี้ ในส่วนของแหล่งเอราวัณกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เนื่องจากกลุ่มผู้ได้รับสิทธิรายใหม่ คือ ปตท.สผ.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ตามแผน

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมเร่งประสานให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัญญารายใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) นั้น เป็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเร่งด่วนและจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการ เพื่อการบริหารพลังงานของประเทศจะไม่มีการสะดุด และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ส่วนกรณีมีข้อกังวลว่า หากกลุ่ม ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณที่อาจจะไม่ต่อเนื่องในช่วงสิ้นสุดสัมปทาน ปี 2565 เนื่องจากมีความล่าช้าในการเจรจาขอเข้าพื้นที่ระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (ในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบัน) กับกลุ่ม ปตท.สผ.

“การเข้าพื้นที่ล่าช้าดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาท โดยอนุญาโตตุลาการ เพราะเรื่องดังกล่าวก็เป็นไปตามกระบวนการทางข้อกฎหมาย ซึ่งอาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้”

ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงฯ ระบุว่า หากพิจารณาอำนาจสั่งการให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณตามสัญญา PSC ก็อาจจะดำเนินการได้ แต่หากยึดตามสัญญาสัมปทาน ก็ยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งเรื่องนี้ กรมฯจะพิจารณารายละเอียดต่างๆให้ถี่ถ้วน เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ และยังมีผลกระทบต่อพนักงานที่ปัจจุบันนั้น แหล่งเอราวัณ มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 5,000 คน อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญของผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ ก็ระบุชัดเจนว่า ต้องเน้นการจ้างงานคนไทยไม่ต่ำกว่า 80-90%

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ระบุว่า ปตท.สผ.ได้พยายามประสานงานกับผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณมาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อ ปตท.สผ. อีดี เข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในปี 2565 

โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือน ส.ค.2562 เพื่อให้ ปตท.สผ. อีดี เข้าสำรวจพื้นที่เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการ

แม้ว่า ปตท.สผ. อีดี จะพยายามสรุปการทำข้อตกลงเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยเข้าดำเนินการในพื้นที่ที่จะไม่กระทบต่อการผลิตของผู้รับสัมปทานปัจจุบัน รวมถึงยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดในการเข้าพื้นที่ ตามที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันต้องการ เช่น การรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของ ปตท.สผ. อีดี เป็นต้น

“ปตท.สผ.ยินยอมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่ตามที่ผู้รับสัมปทานรายปัจจุบันเสนอมา ถือเป็นการแสดงความจริงใจในการพยายามที่จะรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่การเจรจาไม่เป็นผล ซึ่งการที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ จะมีผลกระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศ และตามสัญญา PSC จะต้องผลิตก๊าซไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงรอยต่อ”

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปตท.ได้ติดตามความคืบหน้าในการจัดเตรียมแผนการผลิตก๊าซ แหล่งเอราวัณ ของกลุ่ม ปตท.สผ.ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิรายใหม่ตามสัญญา PSC ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตก๊าซ ในเดือนเม.ย. 2565 แต่พบว่า บริษัท ปตท.สผ. ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้และอาจส่งผลกระทบความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซให้กับประเทศ

“ปตท.ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว พร้อมกับประสานให้ ปตท.สผ.ดำเนินการติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นหลัก”

ทั้งนี้ ปตท.ได้เจรจากับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ทดแทน เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของประเทศลงได้บางส่วน

ขณะเดียวกัน ปตท.ได้เตรียมความพร้อมเร่งรัดการก่อสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ให้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ทำให้มีขีดความสามารถรองรับการนำเข้า LNG รวม 19 ล้านตันต่อปี อีกทั้งจัดเตรียมแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมถึงผลิตภัณฑ์ทดแทนกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซที่ลดลง หากจำเป็น เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนเพียงพอแก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศที่มีห่วงโซ่อุปทานต่อเนื่องและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมากมาย

ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ได้ตั้งทีม “Transfer Team” จำนวน 70 คนปฏิบัติการเปลี่ยนถ่ายแหล่งสัมปทานเอราวัณจากเชฟรอนฯช่วง 3 ปี ก่อนหมดอายุสัมปทานในปี 2565 คาดว่า จะใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ลงทุนทั้ง 2 แปลงสัมปทานคือ เอราวัณและบงกช ในช่วง 10 ปี เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น การลงทุนในแหล่งบงกชประมาณ 3-4 แสนล้านบาท และแหล่งเอราวัณ ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท ซึ่ง ปตท.สผ.จะเริ่มดำเนินการตามสัญญาตั้งแต่ เดือน เม ย.2565 เป็นต้นไป