กูรูแนะซื้อหุ้นอาเซียนรับสงครามการค้า

กูรูแนะซื้อหุ้นอาเซียนรับสงครามการค้า

นักวิเคราะห์แนะนักลงทุนซื้อหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ในช่วงซบเซา ท่ามกลางโอกาสเกิดผันผวนระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน

นายฌอน การ์ดิเนอร์ นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทบริการทางการเงินรายใหญ่ของสหรัฐ เผยกับเว็บไซต์บลูมเบิร์กวานนี้ (21 พ.ค.) ว่า บรรดานักลงทุนควรรีบซื้อหุ้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงซบเซาขณะนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มมากขึ้นว่าจะเกิดความผันผวนระยะสั้นจากความตึงเครียดรอบใหม่ของสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์เศรษฐกิจของโลก

“การทะยานของหุ้นจีน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มฟื้น และการคำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอรอบใหม่ส่งสัญญาณว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีสำหรับหุ้นอาเซียน” นายการ์ดิเนอร์เผย และว่า “การคาดการณ์พื้นฐานของเรา คือสงครามการค้าจะกลับมาดุเดือดขึ้นอีกครั้งเป็นการชั่วคราวและการสนับสนุนนโยบายจะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวทีละน้อย”

หากสงครามการค้ายังดำเนินต่อไป ความเชื่อมั่นของบริษัทจะตกต่ำซ้ำสองในช่วงเวลาสั้น ๆ รวมทั้งขัดขวางการเปลี่ยนผ่านจากการผ่อนคลายนโยบายและเงื่อนไขทางการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น

มอร์แกน สแตนลีย์ มองว่า ตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหมาะกับการลงทุน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

นายการ์ดิเนอร์ระบุว่า ใน 3 เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงผันผวนสำหรับหุ้นอินโดนีเซีย เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้น กระแสเงินไหลออกของบัญชีเดินสะพัดตามฤดูกาล และแรงต้านจากการคำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอรอบใหม่

“ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (โอเวอร์เวท) ได้แก่ การปรับลดดอกเบี้ยที่กำลังจะมาถึง การเติบโตของผลกำไรเร่งขึ้น การพูดคุยเรื่องการปฏิรูปคืบหน้า”

เมื่อเดือนที่แล้ว นายแอนดรูว์ เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ระบุว่าเศรษฐกิจอาเซียนยังมีศักยภาพที่จะรับมือภาวะหดตัวของเศรษฐกิจโลกได้ เพราะหลายประเทศยังมีความต้องการบริโภคภายในสูงอย่างเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการบริโภคภายในยังสามารถทดแทนการส่งออกได้ จึงมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน นายเมสัน ประเมินว่า ปีนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียจะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะความต้องการในประเทศมีความยืดหยุ่น แต่การส่งออกและลงทุนจากภาครัฐลดลง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจมีบ้างในปี 2563

ส่วนฟิลิปปินส์ เขาประเมินว่าจะไม่เติบโตเท่าที่ควร จากการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า รวมถึงการส่งออกลดลง อัตราเงินเฟ้อสูง และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน แต่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2563จากนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการส่งเสริมการจ้างงาน