ศาลรธน.ถกยกแรก ปม 'ธนาธร' ขาดคุณสมบัติส.ส. 23 พ.ค.นี้

ศาลรธน.ถกยกแรก ปม 'ธนาธร' ขาดคุณสมบัติส.ส. 23 พ.ค.นี้

"ศาลรัฐธรรมนูญ" เตรียมพิจารณาคำร้องของกกต.ปม "ธนาธร" ขาดคุณสมบัติสมัครส.ส. ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ 23 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ห้วหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 )ประกอบมาตรา 98 (3)

ก่อนหน้านี้ กกต.มีมติเป็นมติเอกฉันท์โดยเห็นว่า จากพยานหลักฐาน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัท ที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทฯ พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณา ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน และยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด

ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นหรือ บอจ. 5 ที่กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยังปรากฏชื่อนายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มี.ค. 62 ดังนั้นเมื่อกกต. ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้งส.ส.วันที่ 4-8 ก.พ. จึงเท่ากับว่าขณะที่นายธนาธร ยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้ง นายธนาธร ยังถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดอยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3)

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองยังกำหนดว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ซึ่งถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ให้ส.ส. ซึ่งถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของส.ส.ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก หลังจากนั้นราวต้นเดือนมิ.ย. ผู้ถูกร้องจะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง โดยภายในเดือนมิ.ย. ศาลพิจารณาคดีครั้งแรก กำหนดประเด็น ลำดับขั้นตอนการพิจารณา นัดไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัย

สำหรับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน โดยคณะผู้พิจารณาคดี ต้องมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า 7 คนขึ้นไป