เปิด 8 พิรุธโจทย์ยาก 'ธนาธร' ถือหุ้นสื่อ ส่อกลบหลักฐาน-โอนย้อนหลัง

เปิด 8 พิรุธโจทย์ยาก 'ธนาธร' ถือหุ้นสื่อ ส่อกลบหลักฐาน-โอนย้อนหลัง

วันนี้ (30 เม.ย.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)

ที่มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3) เนื่องจากถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แม้นายธนาธร ยืนยันว่าได้ขายหุ้นดังกล่าวให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 แล้วก็ตาม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อพิรุธของการโอนหุ้นดังกล่าว ดังนี้

1.ตามเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แบบ บอจ.5 ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อปี2561 โดยระบบออนไลน์ รายการที่ 3 ปรากฏชื่อนายธนาธร ถือหุ้น 675,000 หุ้น หมายเลขหุ้น 1350001 -2025000 วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นผู้ถือหุ้น วันที่ 12 ม.ค.2561 ดังนั้นตั้งแต่วันที่12 ม.ค.2561 เป็นต้นมา นายธนาธร ถือหุ้นหมายเลข 1350001-2025000 มาตลอด

2.สำนักข่าวอิศรา เสนอข่าวว่านายธนาธร โอนหุ้นดังกล่าวให้นางสมพร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ปรากฏว่าหุ้นหมายเลข 1350001-2025000 ที่นายธนาธร เคยถืออยู่ เป็นชื่อของนางสมพร ในช่องวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น ระบุว่าลงวันที่ 21 มี.ค.2562 แสดงให้เห็นว่านายธนาธร เพิ่งโอนหุ้นของตนให้นางสมพร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562

3.ต่อมานายธนาธร แถลงข่าวว่า ได้โอนหุ้นของตนให้นางสมพร ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 พร้อมทั้งนำตราสารการโอนหุ้น และเช็คที่นางสมพร จ่ายค่าหุ้นมาแสดงด้วย ทำให้มีปัญหาว่าที่อ้างว่าทำตราสารโอนหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 ขัดกับเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แบบบอจ5. ที่แสดงว่าหุ้นหมายเลข 1350001 -2025000 เพิ่งลงบันทึกในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562

เปิด 8 พิรุธโจทย์ยาก 'ธนาธร' ถือหุ้นสื่อ ส่อกลบหลักฐาน-โอนย้อนหลัง

เกิดข้อต้องพิจารณาว่า ทำตราสารการโอนหุ้นดังกล่าวย้อนหลังไปเป็นวันที่ 8 ม.ค. 2562 หรือไม่ การตรวจสอบในประเด็นนี้สามารถ ตรวจสอบการบันทึกการโอนหุ้นทั้งหมดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น แม้ทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นเรื่องของบริษัท อยู่ที่บริษัท บริษัทจะบันทึกเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้ แต่ก็สามารถตรวจ สอบเพื่อหาร่องรอย ข้อพิรุธได้ และตรวจสอบเช็คว่ามีการลงวันที่ย้อนหลังหรือไม่ โดยตรวจจากต้นขั้วเช็ค ถ้ามีการสั่งจ่ายเช็คจากเล่มเดียวกันนี้ก่อนหน้านี้ วันที่สั่งจ่าย จะกระโดดข้ามกันเนื่องจากเช็คจะมีหมายเลขเช็คกำกับอยู่ แต่ถ้าหากก่อนหน้านี้ไม่มีการสั่งจ่ายเช็คจากเล่มเดียวกันนี้ ก็ไม่สามารถตรวจสอบจากต้นขั้วเช็คได้ แต่สามารถตรวจสอบจากธนาคารว่ามีการขึ้นเงินตามเช็คหรือไม่ เข้าบัญชีผู้ใด เมื่อใด

4.เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562 นายธนาธร แถลงว่า หุ้นหมายเลข 1350001 -2025000 เมื่อโอนให้นางสมพรแล้ว นางสมพรโอนให้หลานเอ เมื่อวันที่วันที่ 14 ม.ค. 2562 และหลานเอ โอนกลับให้นางสมพร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 โดยมีการทำตราสารการโอนถูกต้อง

กรณีนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมนางสมพร ถึงโอนหุ้นดังกล่าวให้หลาน ต่อมาหลานก็โอนกลับให้นางสมพร อีก ทำไปเพื่ออะไร

มีการสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างตัวละคร คือหลานเอ รับโอนหุ้นที่นายธราธร เคยถืออยู่มาจากนางสมพร และก็โอนกลับให้นางสมพร เมื่อวันที่ 21 มี.ค. เพื่อจะเป็นคำตอบว่า ที่มีการโอนหุ้นหมายเลข 1350001 -2025000 และมีการลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น วันที่ลงทะเบียนการโอนหุ้นดังกล่าว คือวันที่ 21มี.ค.2562 นั้นไม่ใช่การโอนของนายธนาธร แต่เป็นการโอนของหลานเอ เพื่อไม่ให้การโอนหุ้นที่นายธนาธรอ้างว่ามีการทำตราสารโอนเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 25562 ขัดแย้งกับวันที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

5.นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวว่าปลายปี 2561 นายธนาธร และผู้ร่วมหุ้น ตัดสินใจจะปิดกิจการ แต่มีลูกหนี้ค้างหนี้อยู่ 11ล้านบาท คุณสมพร จึงโอนหุ้นของตนให้นายทวี และนายปิติ ที่เป็นหลานเพื่อให้เข้ามาดูแลกิจการบริษัทและติดตามหนี้สินที่ค้างชำระ

ข้ออ้างนี้มีประเด็นต้องพิจารณา 2 กรณี คือ กรณีแรก ต้องพิสูจน์ว่ามีการโอนให้หลานจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาหลักฐาน การโอนว่าทำเป็นหนังสือ ถูกต้องหรือไม่ มีการชำระเงินอย่างไร และจดแจ้งการโอนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีหลักฐานดังกล่าวยืนยัน ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการโอนให้หลานจริง
กรณีที่ 2 การที่จะเลิกบริษัท ต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และนำไปจดทะเบียนเลิกกับนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อจดทะเบียนเลิกแล้ว กฎหมายยังถือว่าบริษัทยังคงอยู่เพื่อการชำระบัญชี คือชำระหนี้ และติดตามทวงหนี้ ต้องให้นำหลักฐานบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นว่ามีมติให้เลิกบริษัทในการประชุมครั้งใดเมื่อใด

การที่อ้างว่าโอนหุ้นให้หลาน เพื่อเข้ามาดูกิจการและติดตามทวงหนี้ โดยที่ไม่มีการแต่งตั้งให้หลานเป็นกรรมการ เพื่อดูแลกิจการและทวงหนี้จึงรับฟังไม่ได้ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้น ไม่มีอำนาจบริหารจัดการ ต้องเป็นกรรมการเท่านั้น หากบริษัทเลิกกิจการจริง ก็ต้องมีผู้ชำระบัญชี เป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีในการชำระหนี้และทวงหนี้ และก็ไม่มีการประกอบกิจการงานแล้ว ข้ออ้างนี้จึงรับฟังไม่ได้

นอกจากนี้ปรากฏว่าในวันที่ 21 มี.ค.2562 หลานทั้ง 2 คนก็ได้โอนหุ้นกลับไปให้นางสมพร จึงยิ่งรับฟังไม่ได้ว่ามีการโอนหุ้นให้หลานเพื่อมาดูแลกิจการและติดตามหนี้ จึงเป็นการชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เป็นการสร้างเหตุการณ์ให้กลบหลักฐานว่า การที่ปรากฏรายการจดแจ้งการโอนหุ้น หมายเลข 1350001 -2025000 ในวันที่ 21 มี.ค.2562 ไม่ใช่เป็นการโอนของนายธนาธร แต่เป็นการโอนของหลาน เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับข้ออ้างว่า นายธนาธร ได้โอนหุ้นดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562

หากในการชี้แจงกับกกต. มีการโอนหุ้นให้หลาน และหลานโอนกลับให้นางสมพร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ก็ต้องให้นำหลักหลักฐานที่นางสมพร ชำระค่าหุ้น มาแสดงว่าชำระค่าหุ้นอย่างไร
ข้อสังเกต

6.การที่อ้างว่าได้มีการทำหนังสือโอนหุ้นของนายธนาธร ให้นางสมพร เมื่อ 8 ม.ค. 2562 แต่ก็มีข้อเท็จจริงแย้งกันคือปรากฏว่า วันที่ 8 ม.ค.2562 นายธนาธร ไปหาเสียงอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่นายธนาธร จะสามารถทำเอกสารการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.2562 ได้ จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าการทำเอกสารการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.2562 อาจเป็นการทำย้อนหลัง

7.สำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่นายปิยบุตร นำมาแสดงประกอบการแถลงต่อสื่อหน้า 22 และหน้า 23 ซึ่งเป็นส่วนการลงทะเบียนที่เกี่ยวกับหุ้นของนายธนาธรนั้น ในช่องวันที่ขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้นในหน้า23 ช่องแรกที่เขียนว่า 8 ม.ค.2562 และในช่องโอนให้ที่เขียนว่านางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นลายมือที่ต่างจากข้อความเดิมอย่างชัดเจน อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นการไปเขียนเติมข้อความในภายหลัง

หากจะอ้างว่าเป็นลายมือของนายทะเบียนคนใหม่ จึงแตกต่างจากลายมือนายทะเบียนคนเดิม เมื่อเทียบกับหน้า 36 และหน้า 37 ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนหุ้นของนายทวี และหน้า 38 และหน้า 39 ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นของนายปิติ ซึ่งเป็นหลาน ย่อมเป็นเหตุการณ์การลงทะเบียนที่เกิดขึ้นหลังจากการลงทะเบียนหุ้นของนายธนาธร ลายมือที่เขียนข้อความเหมือนกันทั้งข้อความ ไม่มีข้อความใดที่แตกต่างกัน ถ้าหากผู้จดแจ้งการลงทะเบียนที่เขียนข้อความในหน้า 23 เป็นนายทะเบียนคนใหม่ คนเดียวกับผู้ที่เป็นนายทะเบียนจดแจ้งในสมุดทะเบียน กรณีที่เป็นหุ้นของหลานลายมือก็ควรต้องคล้ายลายมือในหน้า 38 และ 39 แต่ก็ปรากฏว่าลายมือในหน้า 23 ที่เขียนว่าขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น 8 ม.ค 2562 ต่างจากลายมือในหน้า 38 หน้า 39 อย่างชัดเจน นี่ก็เป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง จึงควรต้องตรวจสอบสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นทั้งเล่ม จะสามารถพบความผิดปกติและข้อพิรุธ

8.อาจมีการกระทำผิดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน หุ้นที่เป็นปัญหาในกรณีของนายธนาธร ทั้งกรณีการนำส่งแบบบอจ 5. การยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ การชี้แจงและส่งหลักฐานต่อกกต.อาจมีบุคคลบางคนกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 จำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และน่าจะมีการกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกันด้วย