ชี้‘ทรัมป์’รู้ไม่ทันเศรษฐศาสตร์ชนวนเหตุสงครามการค้า

ชี้‘ทรัมป์’รู้ไม่ทันเศรษฐศาสตร์ชนวนเหตุสงครามการค้า

เป้าหมายหนึ่งของการเจรจาการค้าระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งจึงอยู่ที่การลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างกัน

ทำเนียบขาวส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปกรุงปักกิ่งอีกรอบหนึ่งแล้ว เพื่อเจรจาการค้ากับจีน หลังจากสองประเทศทำสงครามการค้าสนั่นลั่นโลก บั่นทอนเศรษฐกิจทุกหัวระแหง แต่ในสายตาของอาจารย์เศรษฐศาสตร์มองว่าสงครามการค้าครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรู้ไม่เท่าทันเศรษฐศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทรัมป์ เคยพูดหลายครั้งว่า การค้าไม่สมดุลระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นสัญญาบ่งชี้ว่าอเมริกากำลังถูกเอาเปรียบ ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของการเจรจาการค้าระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งจึงอยู่ที่การลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างกัน

“ปัญหาหนึี่งของการเจรจาการค้าคือทุกอย่างอยู่บนสมมุติฐานที่ผิดที่ว่า จีนได้เปรียบดุลการค้าเพราะทำการค้าไม่เป็นธรรม ประธานาธิบดีสหรัฐไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ สงครามการค้าทั้งหมดมาจากสมมุติฐานผิดพลาด 2 ประเด็น 1 มองว่าจีนโกง และ 2 จีนคือตัวอันตราย”เจฟฟรีย์ แซคส์อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยกับซีเอ็นบีซี

แซคส์ไม่ใช่คนเดียวที่มองเป้าหมายลดการเสียเปรียบดุลการค้าจีนในมุมที่ต่างออกไป นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ก็เคยพูดเช่นกันว่าความเหลื่อมล้ำทางการค้า ที่วัดจากการนำเข้า-ส่งออกระหว่างสองประเทศ ไม่อาจชี้วัดได้มากพอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้นใครคือผู้แพ้ ใครคือผู้ชนะ

คนอื่นๆ ก็กล่าวด้วยว่า ทรัมป์ไม่ได้ผิดที่กล่าวหาจีนทำการค้าเอาเปรียบ สหภาพยุโรป (อียู) ก็กล่าวหาแบบนี้เหมือนกันว่า รัฐบาลปักกิ่งบีบให้บริษัทต่างชาติต้องส่งมอบเทคโนโลยีให้พันธมิตรท้องถิ่น เพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดแดนมังกรที่กว้างใหญ่ไพศาล

สำหรับความคืบหน้าการเจรจา ที่ตัวแทนทั้งสองฝ่ายผัดกันบินไปบินมาระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งเป็นว่าเล่น เมื่อวันเสาร์ (23 มี.ค.) ตามเวลาสหรัฐ ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์)สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจฟฟรีย์ เกอริช ผู้ช่วยยูเอสทีอาร์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งสองหน่วยงานไปกรุงปักกิ่งตั้งแต่วันพฤหัสบดี (21 มี.ค.)

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ส่งสารชวนอ่านมาให้ทรัมป์ขอให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มความพยายามอีก 2 เท่าเพื่อพบกันครึ่งทางในการทำข้อตกลงการค้าที่สัปดาห์นั้นตัวแทนระดับสูงของจีนและสหรัฐ เจรจากันอย่างเข้มข้นที่กรุงวอชิงตัน

เสร็จจากประชุมที่จีนก็ถึงคราวที่ต้องกลับมาเจรจากันที่สหรัฐอีกครั้งหนึ่ง โฆษกทำเนียบขาวกล่าวด้วยว่า สหรัฐตั้งตาคอยต้อนรับตัวแทนจากจีน นำโดยรองนายกรัฐมนตรีหลิวเหอ มาประชุมที่วอชิงตันในวันที่ 3 เม.ย.นี้

เรื่องสงครามการค้าก็ต้องว่ากันต่อไป เรื่องนโยบายอื่นๆ ก็ต้องเดินหน้า ระหว่างนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเดินสายทัวร์ 3 ประเทศยุโรป ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเมื่ออิตาลีกลายเป็นชาติแรกในกลุ่ม จี7 ที่รับรองโครงการหนึี่งแถบ หนึี่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ของจีน

แน่นอนว่าวอชิงตันไม่พอใจที่จีนและอิตาลีแนบแน่นกันมากขึ้นรองนายกรัฐมนตรีลุยจิ ดี ไมโอต้องผ่อนคลายความกังวล ชี้แจงว่า รัฐบาลโรมยังเป็นพันธมิตรชาติตะวันตกไม่เสื่อมคลาย แต่เรื่องเศรษฐกิจ “อิตาลีต้องมาก่อน”

“นี่เป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับเรา วันที่เมด อิน อิตาลี คว้าชัยชนะ ทั้งประเทศและบริษัทอิตาลีล้วนชนะ” ดี ไมโอ กล่าวในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลจีนกับอิตาลีที่เรเนซองส์วิลลา เมื่อวันเสาร์

การมาเยือนของประธานาธิบดีสีรอบนี้ บริษัทอิตาลีได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ลงนามกับคู่เจรจาจากจีนไปแล้วมูลค่าเบื้องต้น 2.5 พันล้านยูโร ในอนาคตอาจมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านยูโร

บีอาร์ไอถือเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศจีน สำคัญถึงขนาดที่ต้องบัญญัติไว้ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2560 สะท้อนความปรารถนาของสีที่ต้องการให้จีนมีบทบาทผู้นำโลก สหรัฐจึงกังวลว่า บีอาร์ไอกำหนดมาเพื่อขยายอิทธิพลทางทหารของจีน และอาจใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีล้วงผลประโยชน์ชาติตะวันตกได้