'เจ้าสัวสหพัฒน์' วิเคราะห์การเมือง ทิศทางการค้าหลังเลือกตั้ง

'เจ้าสัวสหพัฒน์' วิเคราะห์การเมือง ทิศทางการค้าหลังเลือกตั้ง

"..หากประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ เป็นโอกาสประเทศไทยจะเดินหน้านโยบายต่างๆ ถ้าต้องเริ่มใหม่ ไทยอาจล้าหลัง เป็นเรื่องน่าเสียดาย.."

เข้าโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง แน่นอนว่าหลายภาคส่วนตั้งตาคอยและลุ้นกับ “ผลคะแนน” ที่จะออกมาหลังปิดหีบเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ “พรรคการเมือง” ใด และ “ใคร?” จะก้าวขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30 เป็นผู้นำบริหารประเทศให้เจริญเติบโตทัดเทียมนานาประเทศ

หนึ่งในผู้ที่เกาะติดการเลือกตั้ง ต้องยกให้ “นักธุรกิจ” เพราะการเมือง นโยบายทางการเมืองล้วนมีผลต่อการผลักดันเศรษฐกิจ ธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ค้าขาย กำลังซื้อ ฯลฯ

'เจ้าสัวสหพัฒน์' วิเคราะห์การเมือง ทิศทางการค้าหลังเลือกตั้ง

กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ในวัย 82 ปี ในฐานะยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ที่ทำรายได้เฉียด 3 แสนล้านบาทต่อปี

“บุณยสิทธิ์” ขับเคลื่อนธุรกิจมากว่า 60 ปี ผ่านการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย เผชิญเหตุการณ์ปฏิวัติ รัฐประหาร การบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศภายใต้ “นายกรัฐมนตรี” มาถึง 18 คน ตั้งแต่สมัย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นายกฯคนที่ 11 จนถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯคนที่ 29

“เป็นห่วงบ้านเมืองเหลือเกิน เพราะเวลานี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน” บทสนทนาแรกของบุณยสิทธิ์

ทว่าความกังวลมีมากกว่านั้น หาก “นายกฯลุงตู่” (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไม่ได้คะแนนเสียงเกิน 100 หรือมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะนั่นหมายถึง ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องด้านนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุนของประเทศอาจต้อง “แตะเบรก” จนฉุดประเทศให้ล้าหลังไปอีก 10 ปี เพราะหากพรรคการเมือง “ต่างขั้ว” ได้ขึ้นมาบริหารประเทศ อาจเห็นการรื้อรัฐธรรมนูญ ไม่สานต่อนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้การลงทุนชะงักได้ แน่นอนย่อมกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างยากหลีกเลี่ยง

บุณยสิทธิ์ยังวิเคราะห์ การเมืองไว้หลายแง่มุม เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียง 120-150 เสียง และ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จะปลุก “ความเชื่อมั่น” นักลงทุน หนุนให้การลงทุนใส่เกียร์เดินหน้า ถ้าน้อยกว่า 100 เสียง แต่พรรคลุงตู่ (พลังประชารัฐ) สามารถจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” อาจมีความยุ่งยากจนฉุดเศรษฐกิจให้ชะงัก

ขณะเดียวกันปี 2562 ไทยยังมีภารกิจใหญ่รออยู่เบื้องหน้า คือการเป็น “ประธานอาเซียน” ขับเคลื่อนภูมิภาคให้โตยั่งยืนในอนาคต หลังจาก 10 ปีที่แล้วในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเกิดความปั่นป่วน รวมถึงการจัด “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้้

“ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้ 150 เสียง ธุรกิจจะเร่งเครื่องยนต์หมด เพราะเชื่อมั่นว่านโยบายต่างๆจะถูกสายต่อ ถ้าไม่ใช่พรรคนี้อาจต้องปล่อยคันเร่ง หรือแตะเบรก”

หากปัจจัยภายในประเทศ การเมืองมีเสถียรภาพ การบริหารประเทศราบรื่น ปัจจัยภายนอกเศรษฐกิจโลกไม่ผันผวนมาก เจ้าสัวสหพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2562 จะเติบโตได้ถึง 4% แต่ถ้าการเมืองเกิดความยุ่งยาก แม้ว่า “ลุงตู่” ยังเป็นนายกฯ จีดีพีอาจโต 1-2% ซึ่งถือว่าเก่งแล้ว กลับกันหากพลิกเป็นพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาล เขาประเมินว่า เศรษฐกิจจะโต 0% (ไม่โต)

'เจ้าสัวสหพัฒน์' วิเคราะห์การเมือง ทิศทางการค้าหลังเลือกตั้ง

“หากลุงตู่ ได้เป็นนายกต่อ เป็นโอกาสของเมืองไทยที่จะเดินหน้านโยบายต่างๆ ถ้าต้องเริ่มใหม่ ไทยอาจล้าหลังเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะประเทศจะเสียโอกาสในการพัฒนา เพราะวันนี้ไทยยังต้องแข่งขันกับอินโดนีเซีย เวียดนาม เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน”

และยังมองย้อนไป 5 ปี การบริหารประเทศของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่ามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อย ไฮไลท์สำคัญยกให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ยกระดับการค้าการลงทุนไทยผงาดทัดเทียมนานาประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาค “อาเซียน” ยังไม่มีใครชูประเด็นนี้แข่งกับไทย ดึงทุนต่างชาติ “จีน-ญี่ปุ่น” ให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม ยังทำให้ยักษ์ใหญ่ของโลก “สหรัฐ-ยุโรป” ต้องตบเท้าเข้ามาลงทุนตาม ขณะที่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยังยกระดับการค้าและธุรกิจไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล สอดรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจธุรกิจโลก

นอกจากนี้นโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน ยังผันเงินไปยังประชากรฐานราก ผู้มีรายได้น้อยให้มีกำลังจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดมูลค่า 8 แสนล้านบาท เติบโตได้ถึง 4% หลังจากติดลบร่วม 2 ปี เป็นต้น

การบริหารประเทศ 5 ปีที่ผ่านมาของนายกลุงตู่จึงให้คะแนน 90 คะแนนขึ้นไป

“การชูอีอีซี เป็นนโยบายที่ดี กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายต่อไปยังภูมิภาคอื่น ทำให้ต่างชาติมองเศรษฐกิจไทยเจริญก้าวหน้าไปมาก ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ประชาชนฐานรากมีเงินใช้ เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้บริบทของประเทศเปลี่ยนไป”

ขณะที่หลายฝ่ายมองเกมการเมือง กรณีพล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้นายกฯต่อเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” เสี่ยบุณยสิทธิ์ให้ทรรศนะว่า หากมองย้อนอดีต “รัฐบุรุษ” ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น “จอมพลสฤษดิ์” เข้ามาแก้ปัญหาประเทศให้น้ำไหล ไฟสว่าง ประชาชนมีงานทำ สร้างถนนหนทางต่างๆ “ป๋าเปรม-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 เป็นยุคโชติช่วงชัชวาลย์ เพราะมีการขุดเจาะพลังงาน ฯ บุคคลเหล่านี้ล้วนผ่านยุค “รัฐประหาร” และสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตก้าวหน้า ซึ่งตนเห็นด้วยตัวเองทั้งสิ้น

“เวลาเข้าไปทำงานบริหารประเทศ จะรู้ว่าทำครึ่งๆกลางๆไม่ได้ หากเปรียบเป็นการค้าขาย เหมือนการขี่หลังเสือ ลงไม่ได้ ต้องทำต่อ ไม่ใช่ไม่อยากลงนะ แต่สถานการณ์คาบเกี่ยวประเทศจะดีขึ้นหรือแย่ลง จะลงได้อย่างไร และเหมือนการขับเครื่องบิน ต้องบินต่อเนื่อง ไม่ใช่ขึ้นสูงแล้วจบ แต่ต้องดึงให้ถึงเพดานบิน”

'เจ้าสัวสหพัฒน์' วิเคราะห์การเมือง ทิศทางการค้าหลังเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การเมืองในไทย ไม่ว่าจะเกิดรัฐประหาร หรือระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการเห็นสูงสุด คือ “การพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า”

อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศไม่ได้อยู่ที่คะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับคนทำงาน ทีมงานที่มีฝีมือ ด้วย หากเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องมาทำงาน ประเทศไทยจะยิ่งเสี่ยง เพราะขณะนี้โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยน มีคนหลายรุ่น ทั้งผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ฯ ทำให้การขับเคลื่อนประเทศต้องมีผู้นำที่มี “วิสัยทัศน์” มองการณ์ใกล้และไกลเป็น มีประสบการณ์การทำงาน เข้าใจบริบทและสถานการณ์ประเทศในแต่ละช่วง

ส่วนการที่ “คนรุ่นใหม่” ให้ความสนใจเข้ามาเล่นการเมือง ถือเป็นเรื่องดี ควรเลือกทางเดินให้ถูกต้อง ค่อยๆปูพื้นฐานทีละขั้น สร้างชื่อเสียงเพื่อเติบโตในเส้นทางนี้

“ฉันติดตามการเมืองมากว่า 60 ปี ผ่านผู้นำบริหารประเทศในยุคเฟื่องฟู มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมา การบริหารประเทศ มีความยุ่งยากเหมือนกับการบริหารธุรกิจ แม้ว่าขนาดของธุรกิจจะเล็กกว่าก็ตาม แต่สิ่งที่เหมือนกันคือต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มองลึก มองไกลให้เป็น เพราะการบริหารจัดการแต่ละช่วงแตกต่างกัน ขณะที่เวลานี้ไทยต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องการผู้นำมีประสบการณ์ เพื่อไม่ให้หล่นประเทศหล่นจากอันดับจากที่ 2 ในอาเซียนไปเป็นที่ 3-4 ตามหลังประเทศอื่น”

ยังทิ้งท้ายว่า หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ผู้นำประเทศที่ดี ควรมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่คอร์รัปชัน และต่อต้านการทุจริต มีวิสัยทัศน์ ทำงานให้มากกว่าพูด