‘วิน-วิน’ กฏทอง ‘NEST’ จับคู่องค์กรกับสตาร์ทอัพ

‘วิน-วิน’ กฏทอง ‘NEST’ จับคู่องค์กรกับสตาร์ทอัพ

รู้ว่ามีเทรนด์อะไรใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชน เอไอแต่ก็ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีอะไรกันแน่ที่จะตอบโจทย์องค์กร

นี่คือปัญหาที่ว่าด้วยเรื่อง Digital Disruption ขององค์กรในเอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกานั้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน 


ทำให้สตาร์ทอัพเข้ามามีบทบาทบนเส้นทางของการทรานส์ฟอร์ม ซึ่งวิธีหลัก ๆ ขององค์กรจะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี ก็คือ 1.จับมือเป็นพาร์ทเนอร์ 2. ซื้อเทคโนโลยีและกิจการของสตาร์ทอัพ และ 3.ที่กำลังเป็นกระแสในไทยและกลุ่มประเทศในเอเชียก็คือ การตั้ง CVC หรือ Corporate Venture Capital ซึ่งถ้านับแบบเร็วๆเมื่อปีที่ผ่านมาเมืองไทยมี CVC เกิดขึ้นมากกว่า 5 แห่ง เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ และสามารถเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆได้อย่างใกล้ชิด


“มร.ลอว์เรนซ์ มอร์แกน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนสท์ โกลบอล (NEST) บอกว่า เขาเริ่มเห็นโจทย์ความท้าทายที่มาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อน ซึ่งเวลานั้นองค์กรทั้งธุรกิจและภาครัฐอาจยังไม่ตระหนักที่จะปรับตัวเท่ากับในเวลานี้


"แต่เวลานี้ทุกๆองค์กรต่างก็ตระหนักดี แน่นอนทุกอย่างต้องเริ่มจากระดับผู้นำ ทีมเมเนจเมนท์ที่มองเห็นความสำคัญและหาทางปรับตัว แต่ก็ประสบปัญหาเพราะไม่รู้จะไปหาเทคโนโลยีจากที่ไหน หรืออาจหาเจอแล้วแต่คนในองค์กรกลับไม่มีทักษะ หรือความสามารถที่นำมาปรับใช้ได้กับองค์กร จึงก่อตั้งเนสท์ให้เข้ามาช่วยตรงจุดนี้"


ภารกิจของเนสท์ก็คือ การทำหน้าที่ “เชื่อมโยง” โดยจับคู่ “สตาร์ทอัพ” จากทั่วโลกกับ “องค์กร” ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งต่อนวัตกรรมใหม่ ๆที่สตาร์ทอัพคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา ก็เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับฝั่งขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำเนินการ การลอนซ์โปรดักส์ใหม่หรือบริการใหม่ๆ ขณะที่สตาร์ทอัพเองก็เติบโตไปพร้อมๆกัน


"เราอยู่ตรงกลางระหว่างบริษัทกับสตาร์ทอัพ และต้องช่วยสื่อความต้องการของอีกฝั่งให้อีกฝั่ง คือสื่อภาษาของบริษัทให้สตาร์ทอัพเข้าใจ และต้องแปลภาษาเทคโนโลยีทางฝั่งสตาร์ทอัพเพื่อให้บริษัทเข้าใจ เป็นการประสานประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ต้องวินวินทั้งคู่"


วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การทำโครงการส่งเสริมนวัตกรรมทางธุรกิจที่เรียกว่า “Corporate Accelerator” ซึ่งเนสท์เคลมว่าเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านนี้ในภูมิภาคเอเชีย


ปัจจุบันบริษัทที่เป็นลูกค้าโครงการของเนสท์เป็นบริษัทระดับโลก อาทิ ธนาคาร DBS ,บริษัท INFINITI ,บริษัท AIA สำหรับประเทศไทยก็เช่น ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น


"โมเดลที่เราทำก็พิสูจน์ว่ามันเวิร์ค เพราะเราทำโครงการกับฝั่งบริษัทซึ่งผู้บริหารเขาต้องการเห็นผลลัพท์ที่ชัดเจน ต้องทำงานและผลักดันกันจริงจัง ทำให้บริษัทก็เปลี่ยนได้ แข่งขันได้ ในเวลาเดียวกันต้องทำให้สตาร์ทอัพเกิดและเติบโตได้จริงๆ"


โดยไม่ต้องโชว์ตัวเลข มร.ลอว์เรนซ์บอกว่าการกลับมา “ใช้บริการซ้ำ” ของลูกค้าบริษัทน่าจะเป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จได้เป็นอย่างดี และไม่ต้องมองไปไกล เขายกตัวอย่างธนาคารกรุงเทพ ที่ได้มอบหมายให้เนสท์จัดโปรแกรมที่ชื่อ “Bangkok Bank InnoHub” มาอย่างต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่สองแล้ว


ปัจจุบันเนสท์มีสำนักงานอยู่ 4 แห่ง สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง อีก 3 สาขาตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ,บาห์เรน และไนโรบี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พัฒนาโครงการนวัตกรรมทางธุรกิจใน 7 มหานคร ได้แก่ ฮ่องกง ,เคนยา ,ไนโรบี, บาห์เรน, กรุงเทพฯ ,สิงคโปร์และโซล และมีสตาร์ทอัพที่ร่วมในโครงการของเนสท์ กว่า 1,500 บริษัท และสามารถระดมทุนได้มากกว่า 184 ล้านเหรียญสหรัฐ


ถามถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งเนสท์? มร.ลอว์เรนซ์ตอบว่าเขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั่วโลก ทั้งมองว่าเทคโนโลยีก็คือปัจจัยสำคัญที่จะมาพลิกโฉมการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน


"สำหรับประเทศไทยเวลานี้เพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นที่เทคโนโลยีจะส่งผลกระทบกับเรา หลักๆมาจากการใช้มือถือ แม้ว่าทุกวันนี้เราอาจยังต้องไปซื้อของเอง ขับรถเอง แต่ในอนาคตก็อาจไม่ต้องทำเองเพราะมีระบบที่ทำให้อัตโนมัติ เหมือนกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่วันนี้การเบิกเงินถอนเงินก็ไม่ต้องไปทำที่แบงก์แต่ทำผ่านแอพบนมือถือได้เลย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาทำเกี่ยวกับเรื่องนี้"


แบ็คกราวน์ของมร.ลอว์เรนซ์ นั้นมาจากสายไฟแนนซ์ เขาเคยทำงานให้กับ “เจพีมอร์แกน” ต่อมาก็ยึดอาชีพเป็นผู้ประกอบการ เปิดบริษัท 3 บริษัทและสามารถขายต่อให้กับบริษัทรายใหญ่ได้ทั้งหมด จึงมีความตั้งใจว่าจะก่อตั้งเนสท์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัพ โดยใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเอง


ไม่เพียงบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เนสท์ยังเป็นบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) ในสตาร์ทอัพ ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพที่เนสท์ให้ความสนใจก็คือ FinTech, HealthTech และ Smart Cities แต่เวลานี้ก็มีแผนจะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ด้วย มร.ลอว์เรนซ์มองว่าจุดแข็งของประเทศไทยก็คือโอกาส เขาหมายถึงอุตสาหกรรมเกษตร,ท่องเที่ยว และค้าปลีก


และเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา เนสท์ได้ก่อตั้งชุมชนธุรกิจชื่อว่า “Metta” เพื่อช่วยผู้ประกอบการทั่วโลกให้ได้เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ถือเป็นคลับของคนรุ่นใหม่ซึ่งคลับแห่งนี้มีทั้ง “ออฟไลน์” คือมีสถานที่จริงตั้งอยู่ที่ฮ่องกง, เคนยา, บาห์เรน,สิงคโปร์ และไทย (จับมือกับโกลว์ฟิซ)และบนโลก “ออนไลน์” ด้วย


Digital Disruption สำหรับเขามีนิยามว่าอย่างไร? มร.ลอว์เรนซ์บอกว่า มันคือการนำเอาเทคโนโลยีไปสร้างประโยชน์ให้เกิดกับลูกค้า ซึ่งโลกยุคนี้เป็นยุคที่องค์กรไม่จำเป็นต้องเสียเวลาพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง สามารถหาได้ง่ายๆจากภายนอก ก็คือ สตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์องค์กร ช่วยสร้างประสบการณ์ดีๆให้เกิดขึ้นกับลูกค้า


อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าในโลกยุคนี้ทำให้ธุรกิจที่ทำหน้าที่ “ตัวกลาง” หายไป เขามองว่าในอีกสิบปีข้างหน้าโมเดลธุรกิจของเนสท์เองก็อาจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เพราะคงไม่มีอะไรที่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ และตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมาเนสท์ก็มีการปรับและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป


"ความตั้งใจของเราก็คือ ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และลูกค้าบริษัทให้สามารถเดินทางและเติบโตต่อไปได้ เขาสำเร็จเราก็สำเร็จ เราจะเชื่อมโยงประสานให้ฝั่งบริษัทสามารถพลิกโฉมนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้ และทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพได้ ซึ่งถ้าเราทำงานดีลูกค้าก็จะประสบความสำเร็จ เวลานั้นก็เหมือนเรามองดูลูก ๆเติบโตและต้องดีใจไปกับพวกเขา แต่อย่างที่ได้บอกว่าเรื่องของการทรานส์ฟอร์มยังอยู่ในจุดเริ่มต้น เราก็เชื่อว่าจะมีลูกค้ารายอื่นๆเดินเข้ามาหาเราอีก"