'อิสราเอล' ดันสตาร์ทอัพไทย

'อิสราเอล' ดันสตาร์ทอัพไทย

หอการค้าไทย-อิสราเอล ดึงสตาร์ทอัพอิสราเอลใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยร่วมมือปั้นสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก เน้นเทคโนโลยี เกษตร อุตสาหกรรม 4.0 การแพทย์ การเงิน สมาร์ทซิตี้ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ตั้งเป้าสร้างสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับยูนิคอร์นให้ได้ 1 ราย

บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย โดยจะมีการสร้างโคเวิร์กกิ้ง สเปซ เพื่อรองรับเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ที่เขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยจะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อร่วมผลักดันสตาร์ทอัพของไทย เช่น ฮ่องกง อิสราเอล ซึ่งมีสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีของตัวเอง

นายยุทธภูมิ ดุลยบัณฑิต ประธานหอการค้าไทย-อิสราเอล เปิดเผยว่า อิสราเอลถือมีความก้าวหน้าในการสร้างสตาร์ทอัพระดับโลก ตั้งแต่สตาร์ทอัพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สตาร์ทอัพด้านเกษตรไปจนถึงด้านการป้องกันประเทศ ดังนั้นหอการค้าไทย-อิสราเอลจึงได้ประสานงานทั้งหน่วยงานราชการ และกลุ่มสตาร์ทอัพทั้ง 2 ประเทศ รวมกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับสตาร์ทอัพไทย

\'อิสราเอล\' ดันสตาร์ทอัพไทย


โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมกับหน่วยงานราชการของไทย ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอดด้า) กับอิสราเอลพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) ที่ก่อตั้งโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดึงให้บริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำของอิสราเอลมาร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีกับสตาร์ทอัพของไทย คาดว่าจะลงนามเร็วๆนี้

เริ่มพัฒนาสตาร์ทอัพเกษตร

ทั้งนี้ ในขั้นแรก จะเจาะกลุ่มเป้าหมายสตาร์ทอัพที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เช่น ดิจิทัลฟาร์มมิ่ง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ การเกษตรแบบแม่นยำ เทคโนโลยีการปลูกพืชในเรือนกระจก นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยของอิสราเอลมาต่อยอดพัฒนาเกษตรกรของไทย กลุ่มสตาร์ทอัพด้านสมาร์ทซิตี้ โดยนำเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในสมาร์ทซิตี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการก่อการร้าย อาชญากรรมต่างๆ และการลดปัญหาจราจร ซึ่งมีราคาต่ำกว่าระบบที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

กลุ่มความมั่นคงทางไซเบอร์ เช่น การนำระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของอิสราเอลมาใช้ป้องกันอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในแวดวงธนาคาร และข้อมูลที่สำคัญของบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐ และระบบการจ่ายเงินด้วยระบบออนไลน์ต่างๆ กลุ่มการแพทย์ ในช่วงแรกจะเน้นเทคโนโลยีการผลิตสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ ยารักษาโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ ยาต่างๆ และเครื่องมือแพทย์
รวมทั้งกลุ่มพลังงานทดแทน เช่นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษโดยเฉพาะในเรื่องฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นปัญหาที่สำคัญของไทย และกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า, เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) เทคโนโลยีโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมของไทย

“ประเทศอิสราเอลจะมีความโดดเด่นในการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ต่างๆ ระบบเอไอ บิ๊กดาต้า ระบบวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะไม่เน้นการสร้างฮาร์ดแวร์ เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ซึ่งสินค้าที่เป็นฮาร์ดแวร์อิสราเอลจะนำเทคโนโลยีของตัวเองไปจ้างประเทศอื่นที่มีต้นทุนต่ำทำ เช่น ประเทศจีน ดังนั้นการร่วมมือกับอืสราเอลจะทำให้ไทยได้รับเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาพัฒนาการผลิตของประเทศได้มาก”

ชี้3จุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย

นายยุทธภูมิ กล่าวว่า จุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทยมีอยู่ 3 ประการหลักๆ ได้แก่ มีมุมมองที่มุ่งเฉพาะตลาดภายในประเทศ และสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เป็นเพียงการก๊อปปี้แนวคิดสตาร์ทอัพของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในไทย ทำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ไม่สามารถขยายไปในตลาดโลกได้ เพราะแนวคิดเทคโนโลยีช้ากว่าสตาร์ทอัพระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ในความร่วมมือกับอิสราเอล จะนำเอาจุดเด่นด้านเทคโนโลยีของอิสราเอลมาควบรวมกับแนวคิดของสตาร์ทอัพไทย เพื่อยกระดับไปสู่ต่างประเทศ เช่น มีสตาร์ทอัพของไทยทำธุรกิจไฮโซบัส เป็นการนำแนวคิดของอูเบอร์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเรียกรถหรือจองรถบัส ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีสามารถทำตลาดในไทยได้ แต่ไม่สามารถไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่ใช้แนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ แต่หากเกิดความร่วมมือนำความเก่งของอิสราเอลกล้องมองภาพสามารถตรวจสอบความปลอดภัยภายในรถได้ตลอดเวลา ระบบนำทาง ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยต่างๆ ระบบการบริหารจัดการรถบัส เพื่อลดต้นทุน เกิดความรวดเร็วสูงสุด เป็นต้น ซึ่งหากนำมารวมกันก็จะทำให้สตาร์ทอัพไทยมีความน่าสนใจในตลาดโลกมากขึ้น

2.สตาร์ทอัพไทยขาดทักษะด้านการตลาด ทำให้นักวิจัยไทยที่มีความคิดดี มีเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ดังนั้นตั้งแต่เริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านี้ควรจะดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดระดับโลก มาช่วยวางแผนในการดำเนินธุรกิจ และ3. ขาดเน็ตเวิร์คกับต่างชาติ เพราะไม่มีการสร้างคอมมูนิตี้ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ ไม่มีพื้นที่โคเวิร์คกิ้งสเปช เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยและต่างชาติมาแชร์ไอเดียร่วมกันคิดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และความร่วมมือขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ

จัดจับคู่ธุรกิจไทย-อิสราเอล

ดังนั้น หอการค้าไทย-อิสราเอล จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจุดอ่อนเหล่านี้ โดยการจัดงานอิสราเอลอินโนเวชั่นแมทชิ่งทุกๆ 2 เดือน เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยและอิสราเอลให้พบปะกัน จัดเน็ตเวิร์คกิ้ง จัดกลุ่มย่อยให้สตาร์ทอัพของ 2 ประเทศได้มาพบเจอหารืออย่างใกล้ชิด และจะสร้างคอมมูนิตี้ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพไทยให้ความร่วมมือกับต่างชาติิ โดยมีเป้าหมายสูงสุดจะสร้างสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มียอดขายเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ ให้ได้ 1 ราย

“การที่สตาร์ทอัพไทยมีมุงมองเพียงขยายตลาดภายในประเทศ ทำให้พัฒนาไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้ยาก เพราะตลาดไทยมีขนาดเล็กเพียง 60 กว่าล้านคน ทำรายได้ให้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ได้ยาก ซึ่งความร่วมมือกับสตาร์ทอัพต่างประเทศ จะทำให้ขยายมุมมอง พัฒนาเทคโนโลยี ขยายเครือข่ายไปสู่ตลาดระดับโลกได้มากขึ้น”

ในส่วนของความร่วมมือกับสตาร์ทอัพอิสราเอล ไม่เพียงแต่สตาร์ทอัพไทยจะได้เทคโนโลยี และเน็ตเวิร์คใหม่ๆ สตาร์ทอัพอิสราเอล ก็ยังสามารถร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยขยายธุรกิจมาในประเทศไทยและอาเซียนได้ รวมทั้งการเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็มีต้นทุนต่ำกว่าการทำธุรกิจในอิสราเอล ดังนั้นหากภาครัฐแก้ปัญหาการทำธุรกิจต่างๆ อำนวยความสะดวกให้สตาร์ทอัพที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ก็จะมีสตาร์ทอัพเก่งๆ ระดับโลกเข้ามาในไทยมากขึ้น ส่งผลให้ความร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยขยายตัวตามไปด้วย