'แอมเนสตี้' จี้รัฐบาลใหม่ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

'แอมเนสตี้' จี้รัฐบาลใหม่ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

"แอมเนสตี้" จี้รัฐบาลใหม่ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยกเลิกโทษประหาร

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.62 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เผยแพร่ “วาระสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง” เรียกร้องผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้ยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน ย้ำรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และยุติการลอยนวลพ้นผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชิญชวนให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านและพรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ด้านต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุดใน 9 ประเด็นดังต่อไปนี้ ยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ให้การเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยกเลิกโทษประหารชีวิต

แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า รัฐบาลใหม่ควรยุติการเอาผิดทางอาญาต่อผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และยุติการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก กว่า 10 ปีที่ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทางการไทยมักอ้างความมั่นคงของชาติ เพื่อเป็นเหตุผลในการปิดปากผู้ที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่วิจารณ์อย่างสงบ ทางการไทยยังใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยพลการเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

“รัฐบาลใหม่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน แม้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม ทางการต้องจัดทำมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายใต้ระบอบปกครองของทหาร และในสภาพที่ขาดการรับผิด”

วาระสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ 9 ประเด็น ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญ เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือถูกบังคับบุคคลให้สูญหาย เสรีภาพด้านการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม และสิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัวในขณะที่มีการจัดทำมาตรการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

วาระสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังครอบคลุมถึง การจัดทำมาตรการคุ้มครองที่เข้มแข็งขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัยหรือผู้ขอลี้ภัย และยกเลิกโทษประหารชีวิตด้วย

“เหตุที่เกิดล่าสุดกับราฮาฟ โมฮัมเหม็ด และฮาคีม อัล อาไรบี เป็นสิ่งที่คนหลายล้านคนทั่วโลกต่างให้ความสนใจต่อชะตากรรมของพวกเขา ทั้งสองเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ผู้ลี้ภัยจะถูกบังคับส่งกลับไปยังดินแดนที่พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงอันตรายอย่างร้ายแรง รัฐบาลไทยควรปฏิบัติตามพันธกิจที่เคยให้ไว้ว่าจะพัฒนามาตรการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ในการเลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลไทยควรสัญญาว่าจะบัญญัติการคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย” แคทเธอรีนกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดเวทีดีเบต “เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน” ขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป