สศช.แถลงภาวะสังคมปี 61 ชี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สศช.แถลงภาวะสังคมปี 61 ชี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สศช.แถลงภาวะสังคมปี 61 ชี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่หนี้การบริโภคขยับเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนเร่งก่อหนี้ที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการภาษีใหม่ แนะจับตาเอ็นพีแอลอาจส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคของครัวเรือนในอนาคต

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส4 และภาพรวมปี 2561 โดยพบว่าหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยตัวเลขที่ สศช.รวบรวมได้ล่าสุดพบว่า ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 12.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% คิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 77.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

ส่วนหนี้ที่เกิดจากการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4/2561 เพิ่มขึ้นกว่า 9.4% สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส1ปี 2547 โดยแนวโน้มเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนเนื่องจากในช่วงปลายปี 2561 ประชาชนเร่งรัดการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV)จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ เม.ย.2562 ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.8% ส่วนสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ก็มีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้น 12.6% เนื่องจากครบมาตรการรถยนต์คันแรกทำให้มีการซื้อรถยนต์ใหม่ประกอบกับมีการจัดงานส่งเสริมการขายรถยนต์ในงาน Motor Expo ในช่วงปลายปี 2561

ความสามารถในการชำระหนี้เพื่อการอุปโภคและบริโภคส่งสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคในไตรมาส4/2561 มีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.9% จากปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อรวมเป็นสัดส่วน 2.66% ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ในระดับ 2.68% ของสินเชื่อรวม ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตมียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 9.9% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 0.3%

“หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจมีการขยายตัว และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคของครัวเรือนในอนาคต ขณะเดียวกันหากมีปัจจัยมากระทบต่อความสามารถในการหารายได้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน” นายทศพร กล่าว