ดีเวลลอปเปอร์ “เฆี่ยน”โอน อลหม่าน..! หนีแอลทีวี

ดีเวลลอปเปอร์ “เฆี่ยน”โอน อลหม่าน..! หนีแอลทีวี

นับถอยหลัง..แบงก์เข้มสินเชื่อ ออกกฎเหล็ก“แอลทีวี” ดีเดย์1เม.ย.ปีนี้ “ดีเวลลอปเปอร์”ผึ้งแตกรัง งัดโปรร้อนสุดแรงเกิด ชู  Price War ดันรายได้ โค้งท้ายก่อน“ตลาดวาย”

เมื่อผลิตสินค้าและบริการแล้ว สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ต้องลุกขึ้นมาทำคือ“กิจกรรมการตลาด”สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งค้าขายที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัย 4 ของผู้บริโภค ราคา “แพง” ทำให้การตัดสินใจผลีผลามไม่ได้ แต่ช้าไปก็ไม่ดี เพราะนับวันต้นทุนที่ดินพุ่งสูงปรี๊ด เป็นแรงกดดันให้ “ราคาขยับขึ้น” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์(Developer)ซื้อที่ดินทีจะ “ทุบสถิติ” แข่งกันไปไหน

นอกจากปัจจัยข้างหน้าเป็นเป็นแรงผลักดันให้ดีเวลลอปเปอร์แข่งกันทำโปรโมชั่นขายที่อยู่อาศัย ยังมี“มาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัย”การลดสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์(แอลทีวี)สำหรับสัญญาที่ 2 และ 3 ที่“ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)”งัดออกมาใช้เพื่อสกัดการ “เก็งกำไร” ของนักลงทุนต่างๆ แม้อาจจะไม่ถึงกับเบรกตลาดหัวทิ่ม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม แต่ก็ลดความร้อนแรงของตลาดได้พอสมควร

เมื่อมาตรการคุมเข้มสินเชื่อจะมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.2562 จึงเห็นการ“เทกระจาด”ของผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ มีกลยุทธ์เด็ดอะไร งัดไม่มาใช้ขับเคี่ยวสู้กันเต็มที่ หวังกระตุ้นการขาย เร่งระบายสต็อกที่มี เพราะหากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบังคับใช้ ตลาดอาจ “สะดุด” ชั่วขณะ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อ“ยอดโอนกรรมสิทธิ์”ที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ปีก่อน โตพุ่งแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2558 อีกด้วย

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ฉายภาพในที่สุดมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัย(Macroprudential)ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ยิ่งผนวกกับแนวโน้มดอกเบี้ย “ขาขึ้น” จึงทำให้ไตรมาส 4 ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ล้นหลาม

มากขนาดไหน? สถิติจากศูนย์ข้อมูลระบุว่า ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา โครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ โอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศมากถึง 62,665 ยูนิต คอนโด 35,865 ยูนิต รวม 98,530 ยูนิต เพิ่มขึ้น 7.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าโครงการแนบราบ อยู่ที่ 144,945 ยูนิต คอนโด 102,173 ยูนิต รวมมูลค่า 247,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% ในจำนวนนี้หากพิจารณาเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการโอนกรรมสิทธิ์กันอย่างคึกคัก 56,047 ยูนิต เพิ่มขึ้น 16.7% มูลค่า 173,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.9% และ “คอนโด” ถูกเร่งโอนมากสุดถึง 50% เพราะเป็นโปรดักท์ที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง จากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร เทียบกับโครงการแนวราบเป็นการซื้ออยู่อาศัยจริง(Real Demand)

ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2562 ยังเป็นห้วงเวลาก่อนมาตรการมีผล จึงคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์อยู่ในช่วง “ขาขึ้น” จำนวน 46,130 ยูนิต เพิ่ม 9.6% มูลค่า 142,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8%

**หลัง 1 เม.ย.“ตลาดวาย”

เมื่อการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบังคับใช้ 1 เม.ย.เป็นต้นไป แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์จึงดิ่ง! โดยคาดการณ์ว่าไตรมาส 2 โครงการแนวราบและคอนโดจะอยู่ที่ 35,567 ยูนิต ลดลง 28.7% มูลค่ารวม 104,292 ล้านบาท ลดลง 28.2% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 39,046 ยูนิต ลดลง 19.7% มูลค่ารวม 113,570 ล้านบาท ลดลง 15.2% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 40,714 ยูนิต ลดลง 27.4% มูลค่ารวม 119,581 ยูนิต ลดลง 31.4%

“สถานการณ์ยังไม่ถึงกับเบรกหัวทิ่ม เพราะหากมองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแสดงว่าของในมือที่เร่งโอน ผู้ประกอบการเก็บเงินจากลูกค้าได้แล้ว แต่ของที่จะโอนไตรมาส 2 ลดลง บวกกับมีมาตรการคุมเข้มสินเชื่อบ้านบังคับ ถ้าตีความว่าหัวทิ่มคงไม่ แต่ทำให้ตลาดชะลอตัวจริง”

เขาประเมินว่า การเร่งเคลียร์สต็อกของดีเวลลอปเปอร์ในไตรมาสแรก ยังทำให้เกิดการเฉือนกำไร เพื่อให้เกิดการขายเร็ว ไม่พอขอผนึกกำลังกับแบงก์เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจูงใจด้วย

“เชื่อว่านี่เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ”

**สินเชื่อบ้านเร่งโตตามยอดโอน

ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในปี 2561 มีมูลค่า 717,557 ล้านบาท ขยายตัว 13.2% โดยไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีการเร่งตัวขึ้น มีการปล่อยสินเชื่อ 207,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อคงค้างปี 2561 มีมูลค่า 3,795,058 ล้านบาท ขยายตัว 7.7%

หากประมาณกาณ์ทั้งปี คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่จะมีมูลค่า 670,400 ล้านบาท ลดลง 3.2% และสินเชื่อคงค้างยังคงขยายตัวเพิ่ม

“สินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ชนะปีก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีการปล่อยสินเชื่อ 207,000 แสนล้านบาท เพราะแบงก์ก็มีการแข่งขัน รวมถึงมีการรีไฟแนนซ์ระหว่างธนาคารด้วย”

**ดีเวลลอปเปอร์แก้เกมหนีตาย

เป็นปกติเมื่อตลาดใดตลาดหนึ่งโดนสกัด ดีเวลลอปเปอร์ต้องปรับตัวตามเกม หาทางสร้างการเติบโต วันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มาตรการคุมเข้มสินเชื่อทำให้บริษัทต้องตั้งเป้าหมายอย่าง“ระมัดระวัง”โดยเฉพาะยอดขายเล็งไว้ที่ 36,000 ล้านบาท “ลดลง” จากปีก่อนมียอดขาย 48,500 ล้านบาท

ขณะที่การเปิดโครงการใหม่วางไว้ 28 โครงการ มูลค่า 46,600 ล้านบาท น้ำหนักการพัฒนาโปรดักท์เน้นไปที่ “แนวราบ” มากขึ้น เป็นบ้านเดี่ยว 9 โครงการ สัดส่วน 40% ทาวน์เฮ้าส์ 7 โครงการ สัดส่วน 12% รวมแล้วแซงคอนโดมิเนียมที่จะเปิด 12 โครงการ มีสัดส่วน 48% เทียบปี 2561 คอนโดมีสัดส่วนถึง 70% บ้านเดี่ยว 21% และทาวน์เฮ้าส์ 9%

กลยุทธ์“ราคา”เป็นสิ่งที่โปรดักท์ทุกหมวดนำมาใช้ แสนสิริ ก็เช่นกัน เพราะโครงการใหม่ที่จะลอนซ์โฟกัสไปที่ตลาด “เรียลดีมานด์” ราคาจับต้องได้มูลค่า 32,200 ล้านบาท สัดส่วน 69% อีก 27% จะจับตลาดระดับกลาง และ 4% เป็นเซ็กเมนต์พรีเมียมจับเศรษฐีกระเป๋าหนัก ซึ่งปีที่ผ่านมาทุกค่ายแห่ไปจับตลาดไฮเอนด์ พรีเมียมกันมากแล้ว แต่กำลังซื้อยอดพีรามิดมีแค่ “หยิบมือ” อาจไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตในปีนี้

สำหรับปีก่อน แสนสิริ ทำตลาดที่อยู่อาศัยจับตลาดระดับกลาง 59% พรีเมียม 5% และราคาจังต้องได้ 36%

“การพัฒนาโครงการปีนี้ยังต้องอ่านเกมให้ละเอียดยิบ ลงลึกถึงระดับ Micro จึงพบว่าตลาด Affordable มีดีมานด์อยู่จำนวนมาก ส่วนโครงการแนบราบบ้านเดี่ยวก็เติบโตสูง”

อย่างไรก็ตาม นิยามราคาจับต้องได้ของแสนสิริ ขึ้นอยู่ Positioning ของแบรนด์และกำลังซื้อกลุ่มเป้าหมาย เช่น คณาสิริ 3-5 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 1 ล้านบาทปลายๆ ไปจนถึง 2.5 ล้านบาท ส่วนคอนโดราคา 2-3 ล้านบาท

นับวันอสังหาฯ ยิ่งเป็นสนามรบของ“บิ๊กเพลเยอร์”มีศักยภาพรอบด้านทั้งเงินทุน องค์ความรู้ ทว่าสมรภูมิที่อยู่อาศัยอยู่ในยุคการแข่งขันสมบูรณ์ ข้อมูลตลาดมีเปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมาก การวิเคราะห์และเห็น “เรียลดีมานด์” ไม่ใช่แค่ดีเวลลอปเปอร์รายเดียว แต่ทุกค่ายเห็นไม่ต่างกัน จึงเปิดทางให้แห่แหนชิงขุมทรัพย์กลุ่มเป้าหมายและพัฒนาโปรดักท์เซ็กเมนต์เดียวกัน เพิ่มการแข่งขันดุเดือด มุมมองของดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)

การขับเคลื่อนธุรกิจปีนี้ต้องคิดล้ำ(Beyond)เผื่อฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การเมือง ดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดถูกหมายตาว่า “ซัพพลายล้น” รวมถึงมาตรการแอลทีวีมีผลบังคับใช้

ส่วนการพัฒนาโครงการ เสนาฯ ปรับตัวเปิดโครงการแนวราบในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองรองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะช่วยบูมเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นปัจจัยหนุนรายได้ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายอีกทอด

ปี 2562 บริษัทจะเปิด 22 โครงการ 7,457 ยูนิต มูลค่ารวม 24,013 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 10 โครงการ บ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 โครงการ ต่างจังหวัด 3 โครงการ และอีอีซี 3 โครงการ จากปี 2561 เสนาฯ เอาดีกับตลาดคอนโดมิเนียมจนขึ้นอันดับ 2 ที่ลอนซ์คอนโดมิเนียมมากถึง 6,397 ยูนิต รองจากแสนสิริ

บริษัทยังให้ความสำคัญกับการ “ยิง” เป้าหมายเล็กปังก่อนคว้าเป้าใหญ่หรือ Small is Big โดยทุกแผน ทุกกลยุทธ์ต้องทำให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาตลาดเรียลดีมานด์ให้เจอ เพราะที่ผ่านมาดีเวลลอปเปอร์หลงไปกับการพัฒนาคอนโดจับกลุ่มเป้าหมายนักลงทุน นักเก็งกำไร รวมถึงต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าซื้ออยู่อาศัยจริง สวนทางธุรกิจอสังหาฯ ที่หัวใจหลักหรือ Core Business พัฒนาให้คนอยากมีบ้านได้อยู่จริงๆ

ที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์อาจมองมาตรการแอลทีวี กระเทือนผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 และ 3 แต่ “ดร.เกษรา” วิเคราะห์ว่าคนซื้อหลังแรก “กระทบแน่” หากวางเงินดาวน์ต่ำ แบงก์เข้มปล่อยกู้ ไม่มีเงินทอนหรือสินเชื่อ Top-up กู้ได้ 110-120% บ้าง อาจมีเงินดาวน์ไม่พอวันโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าต้องหาเงินเติมจะลำบาก จึงทดลอง “ไฟแนนซ์ เช็คอัพ เดย์” ร่วมกับ 5 ธนาคารพาณิชย์ ส่งเจ้าหน้าที่ 40 ราย รวมทั้งเครดิตบูโร มาตรวจสถานะการเงินและความสามารถในการกู้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ซื้อโครงการนิช โมโน แบริ่ง

**ปะทุ Price war ชิงเค้ก

ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า หากซัพพลายที่อยู่อาศัยจะตั้งต้นขายในปี 2562 ราว 133,000 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดราว 59,000 ยูนิต แต่เร่งโอน“หนี”มาตรการแอลทีวี 1 เม.ย.นี้ ได้ราว 30,000-40,000 ยูนิต มูลค่าราว 100,000 ล้านบาท ตัวอย่างบิ๊กแนมแห่ระบายสต็อก เช่น แสสิริมีโปรดักท์พร้อมอยู่เพื่อขายและเร่งเฆี่ยนโอน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 3,500 ล้านบาท คอนโด 3,000 ล้านบาท คาด 2 เดือนขายหมด ออลล์ อินสไปร์ มีสต๊อกหลักร้อยล้านบาท เพราะดีเวลอปเปอร์หน้าใหม่พัฒนาโครงการไม่มากนัก

ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 40 กล่าวว่า แอลทีวีทำให้ผู้เล่นยักษ์ใหญ่เร่งระบายสต็อก โอนกรรมสิทธ์ที่อยู่อาศัยก่อนเดือนหน้า เพราะไม่เช่นนั้น “ลูกค้าจะลำยาก” การเร่งโอนจึงเห็นผู้ประกอบการลุย“สงครามราคา”(Price war)ลดกันถึง 5-10% ถือว่าลดแรงมาก เมื่อเทียบกำไรสุทธิของธุรกิจอยู่ที่ 10-15% สะท้อนให้เห็นภาพดีเวลลอปเปอร์ยอมเฉือนกำไรตัวเองลง

แต่ไม่ว่ารายใหญ่จะออกหมัดตลาดแบบไหน ยังคง “ได้เปรียบ” รายเล็ก แต่การแข่งราคาจะเพิ่มโอกาสโกยยอดขายมากขึ้น เพราะรายเล็กไม่กล้า“ชน”ตรงๆอยู่แล้ว จึงต้องเลี่ยงเล่นเกมกลยุทธ์ Customization เลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ แล้วตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“ถ้าแข่งราคาชนรายใหญ่ตรงๆ ย่อมสู้ไม่ได้ ผู้ประกอบการคงตายก่อน เพราะต้นทุนต่างกัน”

เขากล่าวอีกว่า ทิศทางตลาดอสังหาฯปีนี้ถือเป็น“ปีทอง”ของโครงการแนวราบ เพราะแค่ 1 เดือนเศษ บ้านเดี่ยว ขายดิบขายดีมาก และตลาดระดับราคา 2-5 ล้านบาท ยังเป็นที่หมายตาของคนอยากมีบ้านด้วย ส่วนตลาดคอนโดมิเนียม คาดว่าปีนี้จะทรงตัว จากเคยเป็น “พระเอก” มาตั้งแต่ปี 2546

อย่างไรก็ตาม โค้งสุดท้ายก่อนแอลทีวีมีผล 3 สมาคมอสังหาฯ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย เตรียมจัดงาน 

“มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 40” ซึ่งจะระดมที่อยู่อาศัยแนวราบ แนวสูง มาเสิร์ฟผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขายกันเต็มที่ โดยเฉพาะตลาดเรียลดีมานด์ 2-5 ล้านบาท

“การแข่งโหมแคมเปญการตลาด จัดเต็มโปรโมชั่น เป็นโอกาสของคนซื้อที่อยู่อาศัย ตอนนี้จะได้ราคาถูกสุด”มุมมองวรยุทธ กิตติอุดมคณะกรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

ตลาดช่วงนี้คึกคัก แต่หลัง 1 เม.ย.นี้ แนวโน้มตลาดคาดว่าจะ “เงียบ” เพราะนอกจากเจอแอลทีวีแล้ว “การเมือง” และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังเป็นปัจจัยกระทบอีกทอดหนึ่ง

มุมมองจากผู้ประกอบการฟันธง “แอลทีวี” กระทบ แต่ด้านบวก ถือว่าช่วยสกัดการเก็งกำไรจริงๆ โดยเฉพาะ “คนไทย” กลุ่มที่น่าจะหายไปไม่แพ้กัน คือบรรดาผู้ตั้งตนเป็น “กูรู” แนะนำการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ ส่วนการซื้ออสังหาฯของ“ชาวต่างชาติ”โดยเฉพาะจีนเป็นการซื้อเพื่อลงทุน และอยู่อาศัยจริงเช่นกัน ซึ่งถือเป็น “โอกาส” ของผู้ประกอบการ จากที่ผ่านมากำลังซื้อคนไทยซบเซา และแบงก์เคี่ยวปล่อยกู้

**อัดแพ็คเกจ เฆี่ยน!โอน

จากการสำรวจแคมเปญ ยังพบว่า บิ๊กเนม “โนเบิล” หั่นราคา 50%เอพี ไทยแลนด์เปิดจองบ้านกลางเมืองพระราม 9-อ่อนนุช โซนเอ็กซ์คลูซีฟ ใกล้คลับเฮ้าส์รับโปรฯ อยู่ฟรี 10 ปี(มีเงื่อนไข) ก่อนมาตรการรัฐ“แสนสิริ”ส่ง “โปรหมดเปลือก”ระดมบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่กว่า 30 โครงการทั่วประเทศ จูงใจด้วยข้อเสนอพิเศษ ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน ฟรีค่าส่วนกลาง เสนออยู่ฟรี 2 ปีสำหรับคอนโดพร้อมอยู่ ฯ ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 มี.ค.2562 รวมระยะเวลา 45 วัน

ค่าย“เสนาดีเวลลอปเม้นท์”ประเมินแอลทีวีกระทบผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่สัญญาที่ 2 และ 3 เท่านั้น แต่คนซื้อสัญญาแรกก็อาจโดนด้วย เพราะหากพิจารณาการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ “เคี่ยว” กว่าเดิม ส่วนสินเชื่อ Top-up ที่เคยแถมให้กับผู้บริโภคก็ทำไม่ได้ ซ้ำร้ายแบงก์อาจปล่อยกู้ให้ลูกค้าไม่เต็ม 100% อาจกระเทือนการวางเงินดาวน์ของลูกค้าได้ จึงต้องหาวิธีป้องกันลูกค้าส่วนน้อยได้รับผลกระทบ จึงจัด “ไฟแนนซ์ เช็คอัพ เดย์” ร่วมกับ 5 ธนาคารพาณิชย์ ส่งเจ้าหน้าที่ 40 ราย รวมทั้งเครดิตบูโร เช็คลิสต์สถานะการเงินและความสามารถในการกู้ของลูกค้า โครงการนิช โมโน แบริ่งราว 300 ราย เป็นโครงการแรก

“เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น”เสิร์ฟโปรโมชั่นให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านภายในปี 2562 นำโครงการพร้อมอยู่ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม และโฮมออฟฟิศจำนวน 36 โครงการ ราคา 2-60 ล้านบาท ร่วมแคมเปญ “แม่รีบ! มาตรการลด ก่อนมาตรการรัฐ” มอบส่วนลดมากมายภายใน 15 มี.ค. นี้พ่วงกระตุ้นการตัดสินใจซื้อก่อนมีการปรับอัตราดอกเบี้ยการซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 20%

"อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์”นำคอนโดพร้อมอยู่มาจัดโปรโมชั่นจูงใจด้วยการกู้ผ่าน “Quick Deal” Pick Now! แม้กระทั่งคอนโดไฮเอนด์ ยังมี Luxe Deals ดึงดูดด้วยดกเบี้ยคงที่ 1! นาน 3 ปี“เจ้าพระยามหานคร”จัด “โปรแร๊งส์ แซงทุกสถานี” นำคอนโดพร้อมอยู่มาจัดโปรโมชั่นให้แบบไม่อั้น ลดอีกเป็นล้าน เป็นต้น