ญี่ปุ่นรุกอุตฯการบิน 'อีอีซี'

ญี่ปุ่นรุกอุตฯการบิน 'อีอีซี'

"เมติ" นำกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานญี่ปุ่น 29 ราย หารือ สกพอ.หาลูกทางตั้งฐานผลิตในอีอีซี เจาะตลาดเอเชีย "สกพอ." เตรียมโรดโชว์ดึงฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐ ลงทุนชิ้นส่วนเครื่องบิน ส.อ.ท.รับลูกตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ได้นำคณะนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี 29 ราย ในระดับเทียร์ 2-3 เดินทางมาดูโอกาสการลงทุนอุตสาหกรรมการบินที่เป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้เดินทางมาไทยในช่วง 11-12 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายเคนสุเคะ ไซโต้ ผู้อำนวยการ สำนักอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและวัสดุอากาศยาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานรองรับเครื่องบินของโบอิงและแอร์บัส ในเอเชียยังโอกาสอีกมาก เพราะภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตในธุรกิจการบินสูง ซึ่งญี่ปุ่นเห็นว่าควรร่วมมือกับไทยผลิตชิ้นส่วนอากาศยานป้อนธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของญี่ปุ่นผลิตชิ้นส่วนให้โบอิงมานาน โดยเฉพาะโบอิง 767 ญี่ปุ่นผลิตชิ้นส่วน 15% ส่วนโบอิง 777 ญี่ปุ่นผลิตชิ้นส่วน 21% และโบอิง 787 ญี่ปุ่นผลิตชิ้นส่วน 35%

ญี่ปุ่นรุกอุตฯการบิน \'อีอีซี\'

“ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมานาน ซึ่งต่อยอดการผลิตในไทยไปสู่การเป็นซัพพลายเชนอากาศยานในเอเชียได้ไม่ยาก โดยกระทรวงเมติจะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่”

นางลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า สกพอ.ได้หารือกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนอากาศยานญี่ปุ่น โดยหลังจากรัฐบาลผลักดันนโยบายส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนมาก รวมถึงสนใจลงทุนอุตสาหกรรมการบิน เพราะธุรกิจการบินในเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงในระดับ 2 หลัก

รวมทั้งไทยเป็นจุดศูนย์ที่สำคัญของธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้ แรงงานไทยมีฝีมือสูงมาก มีอุตสาหกรรมผลิตวัสดุป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้มแข็งในอีอีซี ซึ่งต่อยอดไปสู่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินได้ รวมทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน

ทั้งนี้ กระทรวงเมติ ได้นำคณะนักธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานหารือกับ สกอพ.เพื่อหาลู่ทางมาลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานในไทย โดยเป้าหมายการดึงดูดการลงทุนจะเน้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานระดับเทียร์ 2-3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น เพราะการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง และไม่ได้ผลิตจำนวนมากจึงเหมาะกับบริษัทเอสเอ็มอีที่มีเทคโนโลยีสูง

มั่นใจเห็นการลงทุนภายในปีนี้

“การที่เมตินำผู้ประกอบการมาเยือนไทยแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นสนใจลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในไทยสูงมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาในรายละเอียดการลงทุน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนจริงต่อไป และคาดว่าภายในปี 2562 จะเห็นบางรายเข้ามาติดต่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)”

ทั้งนี้ การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน จะต้องใช้เวลาในการวางรากฐาน เพราะในอุตสาหกรรมเหล่านี้ไทยไม่มีพื้นฐานมาก่อน โดยช่วงปีแรกจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ต่อไปจะมีเพิ่มขึ้นทุกปี
ส่วนเงินลงทุนจะมีจำนวนไม่มาก เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาตั้งโรงงานขนาดใหญ่เพื่อผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่ละเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยี ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงมาก

นางลัษมณ กล่าวว่า สกอพ.จะเน้นในการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ โดยโครงการสนามบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน

นอกจากนี้ สกอพ.จะโรดโชว์ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่าวนอากาศยานมากขึ้น ซึ่งสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อหารือกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนอากาศยาน โดยเมติได้โปรโมทการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานมาก เพราะมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะต่อยอดจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปสู่อากาศยานได้

ดึงฝรั่งเศสลงทุนอากาศยาน

นางลัษมณ กล่าวว่า สกพอ.จะเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อติดตามผลต่อเนื่องหลังจากที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานฝรั่งเศสได้มาเยือนไทย และมีแผนไปร่วมงานปารีสแอร์โชว์ ที่เป็นการจัดแสดงอุตสาหกรรมอากาศยานใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจะมีการจัดสัมมนาย่อยและเชิญผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานฝรั่งเศสที่เป็นซัพพลายเออร์ของแอร์บัส รวมถึงบริษัทอื่นให้รับทราบนโยบายส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากยุโรปมาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว

นอกจากนี้ จะเดินทางไปประเทศชั้นนำด้านอากาศยานมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะที่อังกฤษจะเพื่อดึงซัพพลายเออร์ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศชั้นนำของโลก ส่วนที่สหรัฐจะดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนให้โบอิง เพื่อให้เกิดการลงทุนที่หลากหลายในไทย รวมทั้งที่ผ่านมายังมีอุตสาหกรรมอากาศยานจากหลายประเทศที่สนใจมาลงทุน เช่น เม็กซิโก บราซิล สาธารณรัฐเชค และจะไปร่วมงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี 4.0 ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เยอรมันในเดือน เม.ย.นี้

ส.อ.ท.ตั้งกลุ่มอุตฯอากาศยาน

นางลัษมณ กล่าวว่า กอพ.ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเห็นตรงกันว่าจะจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ขึ้นมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ของ ส.อ.ท. เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของไทย ซึ่งจะเป็นตัวแทนของไทยในการทำงานร่วมกันกับกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศอื่น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของฝรั่งเศส (GIFAS) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการบินของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของทั้ง 2 ประเทศ

“ปีนี้ สกอพ.จะต่อยอดการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และจะขยายดึงดูดการลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ด้วย เพื่อให้เกิดการลงทุนที่ครบวงจรทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเออร์บริษัทเหล่านี้ ให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในไทย”