ไทยเสริมแกร่งนาโน โฟกัสการแพทย์-วัสดุใหม่

ไทยเสริมแกร่งนาโน โฟกัสการแพทย์-วัสดุใหม่

ไทยยกผลงานนวัตกรรมด้านนาโนอวดชาวโลกในงานนาโนเทค 2019 ที่ญี่ปุ่น พร้อมเดินหน้าจับมือพันธมิตรญี่ปุ่นขยายความร่วมมือ นำร่องด้านนาโนเมดิซีนและนาโนคาร์บอนจากไบโอแมส

ชี้ไทยมีศักยภาพด้านนาโนเทคโนโลยีระดับแถวหน้า แต่ต้องเร่งสร้างคน 10 เท่าจากปัจจุบันให้ตอบความต้องการอนาคต

โมเดลจำลองแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่ใช้เทคโนโลยีการเคลือบสำหรับอุตสาหกรรมด้านพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตพลังงานแบบรวมแสงอาทิตย์ หรือ สารเคลือบพื้นผิวบนแผ่นทำความเย็นเพื่อป้องกันการเกาะตัวของคราบตระกรัน โดยนำไปใช้ในอุตสาหกรรมโรงเรือน เช่น การเกษตรและปศุสัตว์ ตัวอย่างนวัตกรรมที่นักวิจัยไทยนำไปอวดศักยภาพในงานนิทรรศการนานาชาติที่ Tokyo Big Sight ประเทศญี่ปุ่น

เร่งจีบพันธมิตรเสริมแกร่ง

“ศักยภาพและองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยที่ไม่น้อยหน้าใคร จากการเริ่มเดินหน้าด้านนี้มายุคเริ่มต้นเทคโนโลยี จนเกิดเป็นศูนย์นาโนเทคนี้มากว่า 15 ปี ที่มีทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย และบุคลากรพร้อมที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรม” วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าว

ในงานนิทรรศการและการประชุมนานาชาติทางด้านนาโนเทคโนโลยี ครั้งที่ 18 (Nano Tech 2019) ที่ได้รับการยอมรับจากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก นับเป็นครั้งที่ 10 ที่ศูนย์นาโนเทคของไทยเข้ามาร่วมนำเสนอความก้าวหน้าด้านนี้

ศูนย์นาโนเทคถือเป็นหน่วยงานหลัก ที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโชว์ศักยภาพสู่สายตาชาวโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้เกิดความร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นเพื่อดำเนินโครงการวิจัยและประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

“นาโนเทคโนโลยีด้านการแพทย์หรือนาโนเมดิซีนเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ให้ความสนใจ จึงได้จับมือศูนย์นวัตกรรมเวชศาสตร์นาโน (iCONM) และมหาวิทยาลัยโตเกียว จัดประชุมความร่วมมือด้านเวชศาสตร์นาโนแบบแม่นยำ ครั้งที่ 1 ซึ่งจะต่อยอดเป็นโครงการความร่วมมือด้านนาโนเมดิซีนเพื่อรักษาโรคมะเร็งในปี 2562 ” วรรณี กล่าว

เทคโนโลยีโพลิเมอร์และยางขั้นสูง ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีเข้าไปเติมฟังก์ชั่นพิเศษ ทางศูนย์ฯ จึงนำทีมวิจัยและภาคเอกชนไทยร่วมหารือความร่วมมืองานวิจัยด้านเทคโนโลยีโพลิเมอร์และยางขั้นสูงร่วมกับ บริษัท บริดจสโตน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อยอดงานวิจัยร่วมกันในอนาคต

ความร่วมมือวิจัยนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุหรือสารเคลือบระดับนาโน ที่ศูนย์ฯทำอยู่หลายรูปแบบที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย หรือซอฟท์โรโบติกส์ วัสดุพอลิเมอร์และยางขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำหรับหุ่นยนต์ที่สามารถยืดหยุ่นได้ และวัสดุทดแทนอวัยวะเทียม โดยวางแผนที่จะนำงานดังกล่าวไปใช้ในสถานพยาบาลสำหรับคนชรา

“เราเห็นคอนเซปต์คาร์ของบริดจสโตนส์ที่ล้อทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างวัสดุใหม่อย่างไฟเบอร์จากพืชหรือชีวมวล จากจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย หรือการปรับโครงสร้างคาร์บอนกัมมันต์ให้มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ในปีนี้คาดว่าจะเห็นความร่วมมือวิจัยระหว่าง 2 หน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม”

สร้างคนตอบเทรนด์อนาคต

ศักยภาพและองค์ความรู้ของไทยพร้อมที่จะเดินหน้าต่อบนเวทีโลก แต่การเตรียม “คน” ให้เพียงพอยังเป็นความท้าทายหลักที่ต้องเร่งสร้าง

“มากกว่า 10 ปีของเทคโนโลยีนี้ ไทยสร้างบุคลากรด้านนาโนในระดับปริญญาโท-เอกกว่า 1 พันคน แต่หากมองแผนแม่บทด้านนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ จะเห็นความต้องการกำลังคนด้านนี้ 1 หมื่นคนในปี 2562 ซึ่งเรายังทำได้ไม่ถึง ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านการศึกษา ความสนใจและงบสนับสนุน จึงต้องปรับแก้ทั้ง 3 มิตินี้ไปพร้อมๆ กัน”

ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวว่า ใน 2-3 ปีนี้จะเริ่มเห็นสตาร์ทอัพไฟแรงที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาด และกระตุ้นความสนใจพร้อมไปกับสะท้อนความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ออกมาในวงกว้าง โดยเกิดเป็นแพลตฟอร์มของโอกาสทางอาชีพที่ชัดเจน