'อภิสิทธิ์' แนะ 7 แนวคิดประชาธิปัตย์ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้

'อภิสิทธิ์' แนะ 7 แนวคิดประชาธิปัตย์ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้

“อภิสิทธิ์” แนะ 7 แนวคิดประชาธิปัตย์ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.62 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 7 ประเด็น ในงานเสวนาทางวิชาการ “มุมมองทางการเมืองต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม” โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดังนี้

1. เราไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจ บนแนวความคิด หรือกรอบความคิดเดิมๆ ได้ ถ้ายังคิดว่าความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจคือดูตัวเลข GDP แล้วบอกว่ามันโต แปลว่ามันดี สำหรับทุกคนนั้นมันไม่ใช่ ตัวเลขที่ผ่านมาหลายปีเป็นตัวฟ้องว่า GDP โตขึ้นทุกปี แต่เรามีรายได้ครัวเรือนที่สำรวจมาเป็นรายจังหวัดหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่รายได้ลดลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้นน้อย

ฉะนั้นเราต้องมีรัฐบาลที่พร้อมที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในการบริหารเศรษฐกิจ โดยยึดเอาเรื่องการกระจายรายได้เป็นเป้าหมายสำคัญ สร้างตัวชี้วัดที่สะท้อนภาพรวมของความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น และทุกนโยบาย ทุกมาตรการจะต้องมาประเมินว่าส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้อย่างไร เช่น การจัดระเบียบทางเท้า แผงลอย ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเพราะกระทบกับทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อ ที่มีรายได้น้อย การให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้ได้เฉพาะร้านธงฟ้าประชารัฐ ก็เป็นตัวที่ทำให้เงินไม่หมุนเวียนในชุมชน ทำลายโอกาสของร้านเล็กๆ

2. การจัดสรรทรัพยากรหลายอย่าง ต้องเอามุมมองของความเหลื่อมล้ำเข้ามาจับ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลเดียวที่ถือว่าก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทยนี้เป็นของประชาชน และก๊าซที่นำมาใช้ในการหุงต้มในครัวเรือน เราถือว่าเป็นความจำเป็น เพราะฉะนั้นเราเป็นพรรคที่มีนโยบายชัดเจนว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องมาคิดราคาก๊าซหุงต้มกับประชาชนในราคาตลาด คิดในราคาต้นทุนตรึงเอาไว้ แต่ให้อุตสาหกรรม ให้ปิโตรเคมี ให้ที่ไปใช้วัตถุประสงค์อื่นๆ ต้องจ่ายแพงกว่า

3. การจัดการกับปัญหาการผูกขาด ซึ่งมีทั้งการผูกขาดโดยภาคเอกชน และการผูกขาดในภาครัฐ ภาคเอกชนต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า มีการเปลี่ยนนิยามตีความเสียใหม่ ว่าการมีอำนาจเหนือตลาดในวันนี้ไม่ใช่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ในตลาดใดตลาดหนึ่ง แต่อาจจะมีการใช้ความเชื่อมโยงของหลายธุรกิจเข้ามาด้วยกัน มีความได้เปรียบกับคู่แข่งขัน แล้วสามารถมาเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคได้ ขณะที่การผูกขาดที่เกิดขึ้นโดยภาครัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงาน หรือด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาล และผู้นำรัฐบาล ต้องมองประโยชน์ของส่วนรวม เหนือประโยชน์ขององค์กรนั้นๆ จึงจะมาแก้ไขปัญหาเรื่องการผูกในภาครัฐได้

4. เมื่อความไม่แน่นอน ความเหลื่อมล้ำในรายได้มีสูง ระบบสวัสดิการจะต้องเข้ามา พรรคประชาธิปัตย์ เอาแนวความคิดที่เคยทำมาแล้วกับภาคการเกษตรคือการประกันรายได้ ที่เราให้เกษตรกรมั่นใจว่าทำการเกษตรแล้วไม่ขาดทุน ไม่เป็นการแทรกแซงตลาด ไม่สร้างปัญหาเรื่องขีดความสามารถ การแข่งขัน การทุจริต คอร์รัปชัน

วันนี้พรรคฯ จะขยายไปสู่ภาคอื่นๆ เช่นภาคแรงงาน ค่าจ้าง เงินเดือนที่สูงไม่พอกับค่าครองชีพที่ควรจะมี แต่นายจ้างไม่สามารถขึ้นให้ได้ รัฐก็ใช้หลักของการประกันรายได้ เข้ามาอุดช่องว่างตรงนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะช่วยสร้างความอบอุ่นใจให้กับคนที่อยู่ในวัยทำงานทุกคน ส่วนผู้สูงอายุ เด็ก พรรคฯ จะสานต่องานที่พรรคฯ เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเรื่องเบี้ยยังชีพ สร้างระบบการออม และล่าสุดที่พรรคฯ ได้ประกาศคือ “เกิดปั๊บ รับสิทธิ์เงินแสน” ที่จะมีการให้เงิน 1 แสนบาท ช่วยดูแลเด็กตั้งแต่ 0-8 ขวบ

5. บริการพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข ต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น พรรคฯ ได้ขยายการเรียนฟรี การกระจายโอกาสทั้งเรื่องสถานศึกษา และสถานพยาบาล ซึ่งได้เคยทำมาแล้วอย่าง รพ.สต. ที่พรรคฯ ยกระดับขึ้นมา ก็เป็นการลงทุนที่เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลเอกชนจะต้องถูกควบคุม และพรรคฯ จะมีนโยบายที่ชัดเจนว่าไม่เอาทรัพยากรของรัฐไปอุดหนุนนโยบายอย่างเช่น Medical Hub เพราะจะเป็นการอุดหนุนให้เกิดการดูดทรัพยากรออกไปจากภาครัฐมากยิ่งขึ้น

6. ระบบสวัสดิการที่เราพยายามจะทำทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะไม่มีประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าระบบภาษียังคงเป็นระบบที่ถดถอย วันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องมีการปรับระบบโครงสร้างภาษี ให้คนที่มีกำลังจ่าย จ่ายมากขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วระบบสวัสดิการก็เป็นการเอาภาษีจากประชาชนซึ่งเป็นคนยากคนจน ที่จ่ายผ่านระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมนุษย์เงินเดือนซึ่งไม่สามารถหนีภาษีได้ ก็จะต้องแบกรับภาระทั้งหมดตรงนี้

7. ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจ มีเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เราต้องการการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และที่สำคัญที่สุด การเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ความเหลื่อมล้ำจะถูกตอกย้ำ ถ้าหากการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีการผูกขาดอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้ามามีอำนาจทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง