กรมศุลรับชำระภาษีผ่านแบงก์

กรมศุลรับชำระภาษีผ่านแบงก์

กรมศุลกากรเปิดรับชำระภาษีผ่านระบบแบงก์ทุกช่องทาง โดยเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินเพื่อนำไปชำระภาษีได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นอำนวยความสะดวกรับนโยบายการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมศุลกากรได้เปิดให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกชำระเงินภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Bill Payment ซึ่งผู้ประกอบการสามารถชำระผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารได้หลายช่องทาง อาทิ Internet Banking Mobile Banking เคาน์เตอร์ธนาคาร ATM รวมทั้ง การชำระผ่านตัวแทนรับชำระ (Nonbank) ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้เองที่สถานประกอบการ ผ่านระบบการติดตามสถานะการผ่านพิธีการศุลกากร (e-Tracking)โดยไม่ต้องมารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร
“ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการที่มาชำระเงินที่เคาน์เตอร์ของกรมศุลกากรคิดเป็น 45%ของจำนวนผู้มาเสียอากรทั้งหมด หากผู้รับบริการหันมาใช้ระบบดังกล่าวจะเป็นการลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการและผู้ประกอบการ รวมทั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กรมศุลกากรจะสามารถรับชำระค่าภาษีอากร และรายได้อื่นๆผ่านระบบ e-Payment ได้ 100 % พร้อมเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป”เขากล่าวและว่า ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ขอพิมพ์ใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 40 บาทต่อหนึ่งใบเสร็จรับเงิน
ทั้งนี้ วานนี้(15ม.ค.)กรมศุลกากรได้จัดสัมมนา“Customs 2019 : The Next to Beyond” โดยเชิญ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment ไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้แก่ผู้รับบริการในการใช้ระบบชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment ได้อย่างถูกต้องให้แก่ผู้ใช้บริการด้านพิธีการศุลกากร โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวกว่า 600 คน
นายกฤษฎากล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ลดการใช้เงินสดและเช็ค กรมศุลกากรซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรสินค้านำเข้า-ส่งออก รวมทั้ง จัดเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ แทนหน่วยงานอื่น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนาระบบการดำเนินงานและการให้บริการของกรมศุลกากรในมิติใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังให้ความสำคัญกับระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) มาใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้า ซึ่งจะสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า รวมถึง เป็นผลดีต่อการประเมินการวัดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้าและการจัดอันดับ Ease of doing business ของประเทศไทย
กรมศุลกากรยังมีแผนต่อเนื่องในการจัดทำแนวทางขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัล โดยจะทำการพัฒนาระบบรับชำระเงินผ่าน e-Payment (e-Payment Gateway) และการเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบูรณาการและใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วจากกรมศุลกากร