‘ซีไอเอ็มบีไทย’กำไรปี61 ทรุด 98%

‘ซีไอเอ็มบีไทย’กำไรปี61 ทรุด 98%

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประกาศผลดำเนินงานปี 2561 กำไร 6.9 ล้านบาท ลดลง 98.2% จากปีก่อนหน้า ผลค่าใช้จ่ายพุ่งกระฉูด ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมวูบ เร่งเดินหน้าโครงการ “Fast Forward” เต็มสูบ

นายกิตติพันธ์  อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สิ้นปี 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 6.9 ล้านบาท ลดลง 378 ล้านบาท หรือ 98.2 % เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของปี 2560  ขณะที่กำไรก่อนภาษีเงินได้อยู่ที่ 271.2 ล้านบาท ลดลง 217.6 ล้านบาทหรือ 44.5% สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 9.6% และการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้อื่น 7.0% และ 2.6%  ตามลำดับสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 5.3% และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 2.6%

เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานปี 2561รายได้จากการดำเนินงานปี 2561 จำนวน 13,536.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 381.7 ล้านบาท หรือ 2.9% การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 544.3 ล้านบาท หรือ 5.3% จากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน  

รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน  136.5 ล้านบาท หรือ 7.0%  เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ  รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 2.6 % สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศสุทธิกับการลดลงของขาดทุนสุทธิจากหนี้สินทางการเงินที่กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมและการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

 ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นจำนวน 733.0 ล้านบาทหรือ 9.6%  สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ “Fast Forward” และขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย      เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานปี 2561 อยู่ที่ 61.7% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 57.9%   ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) อยู่ที่ 3.71% ลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ 3.89% เป็นผลจาก Yield on Earning Asset ลดลง

ส่วนเงินให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 227.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน  ด้านเงินฝากก็เพิ่มขึ้น 6.5% จากสิ้นปี 2560 ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 97.2% จาก 96.8%เมื่อปีก่อน

 ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 9.9 พันล้านบาท หรือราว 4.3% ลดลง จากปีก่อนที่อยู่ที่ 4.8%เนื่องจากธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การบริหารคุณภาพสินทรัพย์รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการในการเรียกเก็บหนี้และมีการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2561 ด้านการสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 107% เพิ่มขึ้น จากปีก่อนที่อยู่ที่ 93.2%

ขณะที่เงินสำรองของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่จำนวน 10.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินจากเงินสำรองขั้นต่ำตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 5.0 พันล้านบาท ส่วนเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคารต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.3% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 14.1%