สวทน.ชงรัฐบาลอุดหนุนเงินก้อน-ตั้งกองทุนดันงานวิจัย

สวทน.ชงรัฐบาลอุดหนุนเงินก้อน-ตั้งกองทุนดันงานวิจัย

สวทน.สร้างความเชื่อมั่นภาคเอกชนร่วมลงทุนวิจัยในโครงการสเปียร์เฮด เสนอรัฐบาลจัดสรรงบในลักษณะเงินอุดหนุนแบบเป็นก้อนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับจัดตั้งกองทุนพัฒนาการวิจัย

สวทน.สร้างความเชื่อมั่นภาคเอกชนร่วมลงทุนวิจัยในโครงการสเปียร์เฮด เสนอรัฐบาลจัดสรรงบในลักษณะเงินอุดหนุนแบบเป็นก้อนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับจัดตั้งกองทุนพัฒนาการวิจัยสวทน.สร้างความเชื่อมั่นภาคเอกชนร่วมลงทุนวิจัยในโครงการสเปียร์เฮด เสนอรัฐบาลจัดสรรงบในลักษณะเงินอุดหนุนแบบเป็นก้อนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับจัดตั้งกองทุนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมผลักดันงานวิจัยด้านเศรษฐกิจใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หวังเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 2 หมื่นล้านบาทใน 3-5 ปี 


หวั่นความไม่แน่นอนงบรายปี


นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่จัดทำนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ โดยมีบทบาทในการสร้างนโยบายที่นำมาสู่การปฏิบัติได้จริง จึงอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อโครงการ “สเปียร์เฮด” (Spearhead)สเปียร์เฮดซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนงานวิจัยสู่เอกชน มุ่งเฉพาะงานวิจัยขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการแพทย์ กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มการบริการมูลค่าสูง และกลุ่มพลังงาน

ที่ผ่านมาได้รับจัดสรรงบประมาณแบบปีต่อปี ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในปีถัดไป ส่งผลต่อการส่งมอบผลตามระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากกระบวนการจัดสรรงบประมาณจะดำเนินการล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งในช่วงระหว่างรอนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีหรือแนวโน้มด้านการตลาดอย่างพลิกโฉมฉับพลัน อาจส่งผลให้เอกชนชะลอหรือยุติการดำเนินการได้


"บางแผนงานที่เอกชนคาดหวังว่าจะได้รับงบสนับสนุน จึงได้ดำเนินการล่วงหน้าเพื่อให้สามารถส่งมอบผลได้ตามที่ระบุในแผนงาน แต่เมื่อไม่ได้รับงบ จึงมีการชะลอหรือยุติการดำเนินการ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อการสนับสนุนของภาครัฐปัจจุบัน”


อีกทั้งการโอนงบประมาณรัฐให้เอกชนโดยตรงยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่มีระเบียบรองรับ จึงต้องมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้รับงบประมาณ ส่งผลให้การดำเนินการในบางกิจกรรมไม่คล่องตัว ทั้งนี้ เนื่องจากกลไกการบริหารจัดการโครงการสเปียร์เฮดเป็นรูปแบบใหม่ จึงต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติกลาง และต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แต่ละฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานและมีส่วนรับผิดชอบต่อการส่งมอบผลตามที่กำหนดไว้


ลุ้นกองทุนพัฒนาการวิจัยฯ


แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว คือ การจัดสรรงบในลักษณะเงินอุดหนุนแบบเป็นก้อน (Block Grant) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และสามารถปรับเปลี่ยนแผนงานตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยีและการตลาดได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งกำหนดให้การจัดสรรงบเป็นแบบต่อเนื่องตามกำหนดระยะเวลาการส่งมอบผล เช่น 3-5 ปี เพื่อให้สามารถวางแผนการดำเนินงานและขับเคลื่อนแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือการออกกฎระเบียบสนับสนุนให้เอกชนสามารถรับงบประมาณรัฐได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น The Small Business Innovation Development Act ที่สหรัฐใช้กระตุ้นให้เอสเอ็มอีพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสร้างบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ขณะที่ฝรั่งเศสให้เป็น Block Grant แบบปีต่อปี หากประเทศไทยทำได้ถือว่าก้าวหน้ากว่าฝรั่งเศส


"ขณะนี้ได้เสนอให้จัดตั้งกองทุนขึ้นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้วให้งบประมาณไหลมาที่กองทุนเลย โดยไม่ต้องไปยุ่งกับปฏิทินปีงบประมาณ สามารถใส่เงินเข้าไปในโครงการได้ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวงและกำลังจะเข้า ครม. ภายใน ม.ค. -ก.พ. 2562”


ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณากฎหมายอีก 2 ฉบับ คือกฎหมายจัดระเบียบราชการกระทรวงและกฎหมายการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม“แนวโน้มกองทุนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมจะเกิดขึ้นเร็วกว่า Block Grant Multi-year แต่ถ้าเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เงินในกองทุนไม่พอ เช่น ดาวเทียม 7,000 ล้านบาท จำเป็นต้องอาศัยเงินจาก Block Grant Multi-year จากสำนักงบประมาณ ซึ่งแนวคิดมาจากสหรัฐ”


สำหรับปีงบประมาณปี 2562 สวทน.ได้ของบอุดหนุนโครงการสเปียร์เฮด ด้านเศรษฐกิจ 42 แผนงาน 3,000 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรร 18 แผนงาน 800 ล้านบาท จึงเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการงบประมาณ โดยตั้งเป้าว่า หลังสิ้นสุดการดำเนินการใน 3-5 ปี จะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 20,000 ล้านบาทมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3,500 ล้านบาท สามารถลดการนำเข้าต่อปีอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 50,000 ครัวเรือน การจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ราย เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มทำให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ 5% ต่อปี

‘งบรายปี’ กับดักนวัตกรรมเอกชน 


ในฐานะผู้บริหารโครงการสเปียร์เฮด ด้านเศรษฐกิจ กิติพงค์มีความกังวลในเรื่องนโยบายงบประมาณที่ไม่มีความชัดเจน เพราะเป็นโครงการต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี ซึ่งหมายความว่า ทุกปีต้องใส่เงินเข้าไปกับโครงการเก่าที่ดำเนินการอยู่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องมีงบประมาณสำหรับโครงการใหม่ ถัดมาเป็นเรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจ้าง อินโนเวชั่นเมเนเจอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริการจัดการโครงการให้ออกเป็นนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

ต่อมาเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจต่อสังคมและ หน่วยงานราชการ ว่า โครงการสเปียร์เฮดมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวได้ อาทิ ลงทุนไป 18 โครงการ อาจจะขายได้ 15 โครงการ ล้มเหลว 3 โครงการก็ต้องยอมรับได้ หรือคงต้องทำเป็นระเบียบให้สภานโยบายเข้าใจ เพราะบางโครงการที่เกี่ยวกับการแพทย์อาจใช้งบประมาณถึง 100 ล้านบาท แต่ระหว่างทางการทำการทดลองพบว่า แข่งขันในตลาดไม่ได้ ก็ต้องยอมรับและทำความเข้าใจร่วมกัน


เรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับหน่วยงานที่ควบคุมมาตรฐาน เช่น นวัตกรรมที่ออกมาใหม่ต้องมีมาตรฐานแต่ว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานเรื่องมาตรฐานหรือระบบการอนุญาตของหน่วยงานควบคุมที่มีอยู่ยังไม่มีหรือใช้ไม่ได้ จะเป็นอุปสรรคกับเอกชนในการนำนวัตกรรมจากงานวิจัยไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ 
ฉะนั้น จึงพยายามจะให้บริษัทและนักวิจัยรับรู้ตั้งแต่ต้นแล้วเตรียมข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานที่ต้องทำการรับรองมาตรฐานให้เข้ามาร่วมตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อแก้ปัญหานี้