‘พี่ชาลี’ของเด็กๆ   ในสถานพินิจ

ปัญหาสังคมอาจไ่ม่เป็นอย่างที่คุณคิด ลองอ่านมุมมองของอาสาสมัครคนนี้ที่ลงไปทำงานฟื้นฟู เยียวยา บำบัดเยาวชนในสถานพินิจ และคนติดยา

""""""""""""""""""""

“จริงๆ แล้วผมไม่ได้ติดคุกและติดยา แต่ผมเข้าคุกบ่อยมาก ผมเข้าไปทำงานในนั้น งานหลักของผมคือ การให้กำลังใจคนที่อยู่ในคุกและสถานพินิจ ผมให้คำปรึกษา วางแผน ฟื้นฟูและเยียวยาคนติดยา งานของผม ไม่ใช่แค่เด็กๆ ยังมีผู้ใหญ่ที่อายุมากสุด 79 ปี ” อนันต์ ศิลปี จิตอาสา ผู้ให้คำปรึกษาผู้ต้องขัง คลินิกจิตสังคม ศาลยุติธรรม กล่าวในงาน TEDxSilpakornU

อนันต์ เป็นเจ้าของธุรกิจ บริษัทโนวฮาวเซิร์ฟ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ที่ใช้เวลาอีกเสี้ยวทำงานจิตอาสาด้านเด็กและเยาวชน โดยลงไปคลุกกับรากของปัญหา เมื่อพวกเขาเหล่านั้นกระทำความผิดและถูกดำเนินคดี อนันต์หรือที่เด็กๆ เรียกว่า พี่ชาลี จะเข้าไปช่วยฟื้นฟู เยี่ยวยา บำบัดแบบบูรณาการ เพื่อให้เด็กๆ กลับตัวกลับใจ อยู่ร่วมกับสังคมได้

นอกจากเป็นที่ปรึกษาให้เด็กและเยาวชน เขายังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก และได้รับการโปรดเกล้าฯให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบ (ซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมให้ปฏิบัติหน้าที่ในทางตุลาการ) ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และกำลังเรียนปริญญาเอก สาขานิติวิทยาศาสตร์และงานยุติธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หมวกหลายใบที่เขาทำ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด ปัญหาครอบครัวแตกแยก และท้องในวัยเรียน ฯลฯ

เขาบอกว่า ถ้าเป็นงานผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก เวลามีคนแจ้งว่า มีเด็กถูกทำร้ายและทารุณกรรม เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะไปเอาเด็กออกมา

“หน้าที่ของผมคือคัดกรองว่า เด็กต้องไปอยู่ที่ไหน และได้รับการดูแลอย่างไร ทั้งเรื่องการศึกษาและหาครอบครัวอุปถัมภ์ ปัญหาเด็กไม่ได้มีเฉพาะพ่อแม่ ยังมีเรื่องการเลี้ยงดูและยาเสพติด ถ้าเราไม่แก้ปัญหานี้ แล้วส่งไปให้ครอบครัวใหม่ ปัญหาก็ยังอยู่ เด็กก็จะถูกรังเกียจ เกิดปัญหาซ้ำซาก บางรายไปชวนลูกหลานครอบครัวอุปถัมภ์ติดยาอีก”

 

-1-

บนเวที TEDxSilpakornU อนันต์ชวนคิดหลายเรื่อง ตั้งแต่การทำแท้ง แม่วัยใส การเสพยา และความรักชั่วครั้งชั่วคราวที่นำไปสู่การจากลาชั่วนิรันดร

“บางชีวิตมีโอกาสอยู่รอดเป็นมนุษย์ แต่หลายชีวิตแค่เกิด ก็ไม่มีโอกาส เด็กที่รอดกลุ่มนี้ จะถูกพิทักษ์ดูแลในสถานรับเลี้ยงเด็ก แล้วเด็กพวกนี้จะได้รับความรักเหมือนพ่อแม่ไหม ประสบการณ์ที่ผมเจอเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ทำความผิด ส่วนใหญ่มาจากพ่อแม่หย่าร้าง หรือมีปัญหาครอบครัว 

ผมเคยไปยืนหน้าโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งในวันประกาศผลสอบเข้า พ่อแม่พูดกับลูกที่สอบไม่ได้ว่า “แล้วจะไปสอบที่ไหน โรงเรียนดีๆ แบบนี้ยังสอบไม่ได้ ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้” พวกเขาลืมไปว่าพวกเขากำลังถ่ายทอดอะไรบางอย่างให้กับเด็ก 

เท่าทีี่ผมทำงานมา กลุ่มที่เริ่มใช้สารเสพติดตั้งต้น คือ บุหรี่ เคยเจอกรณีเด็กอายุต่ำสุด 4 ปี เขาสูบบุหรี่เพราะมีตัวอย่างที่บ้าน พ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา สูบบุหรี่ นี่คือ รากที่ส่งต่อถึงเด็ก ถ้าใครมีรากแบบนี้ต้องพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อนผมที่เป็นหมอ เคยเล่าให้ผมฟังว่า “มีคุณแม่ท่านหนึ่งมาพบหมอ เพราะเป็นมะเร็งปอด ทั้งๆ ที่ไม่สูบบุหรี่ เมื่อเธอเสียชีวิต คุณหมอเข้าไปสอบถามเพื่อทำวิจัย พบว่า คนในบ้านสูบบุหรี่ทุกคน ทั้งๆ ที่ไม่ได้สูบในบ้าน แต่เวลาอยู่ในบ้าน ลูกชายกอดคุณแม่ นอนกับคุณแม่” 

ผมก็ถามว่าเป็นไปได้หรือที่แม่สูดดมกลิ่นบุหรี่ไปด้วย เพื่อนผมที่เป็นหมอบอกว่า สารพิษที่ถ่ายทอดออกมา มีทั้งกลิ่นจากลมหายใจ เมื่อคุณรับกลิ่นเข้าไป จึงได้รับความเสี่ยงไปด้วย ถ้าอย่างนั้น อย่ากลายเป็นต้นเหตุให้คนที่เรารักจากไป”

-2-

ว่ากันว่า ความไม่เข้าใจ และไม่หาความรู้ นี่แหละที่ทำให้คนในสังคม มีปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า  อนันต์ บอกว่า ลูกๆ ของเขาก็อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่น เขาคิดว่า เรื่องเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว วันใดวันหนึ่งก็เป็นได้

“ผมพยายามเข้าไปค้นหาจุดกำเนิดของพฤติกรรม ที่ทำให้เขาต้องกระทำความผิด กระบวนการทำงานของผมจึงต้องสืบค้นจากร่องรอยที่ไม่มีตำราไหนมาก่อน ผมอยากเล่าอีกเคสชื่อ น้องส้ม มาพร้อมแผนฟื้นฟูแก้ไขและเยียวยา เธอมีทั้งเรื่องการค้าประเวณี ค้ายาเสพติด จำหน่าย และพยายามฆ่า

ผมมีหน้าที่ขุดคุ้ยและทำลายกรอบความคิดของเธอที่นำไปสู่พฤติกรรมนั้น เธอไม่ยอมคุยกับผม ผมส่งไปหานักจิตวิทยาประเมินและถูกส่งกลับมาว่า เป็นโรคจิตชนิดอ่อนๆ ผมคิดต่อว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เธอทำเช่นนั้น ผมนึกถึงการปอกส้ม ถ้าเราฉีกส้มอย่างระมัดระวัง เนื้อจะไม่ช้ำ เช่นเดียวกับการทำงานกับส้ม ผมไม่ใช้วิธีการถามแบบเดิมๆ

สิ่งที่ผมเห็นคือ ส้มก้มหน้า แต่ร่างกายเต็มด้วยบาดแผล ผมเห็นรอยคัทเตอร์ที่แขน รอยเย็บจากมีดปลายแหลมปนกับรอยสัก ผมขออนุญาติเธอดูแผ่นหลัง ผมพบรอยเฆี่ยนตี และที่น่ากลัวคือรอยสักชื่อคน”

รอยสัก คือ สิ่งที่อนันต์พยายามสืบค้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และมันก็คือ บาดแผลในใจส้ม 

เมื่อถามถึงรอยสัก อนันต์ บอกว่า เธอค่อยๆ พรั่งพรูออกมา เธอกำพร้าตั้งแต่เด็ก มีแม่วัยทีนเอจ คลอดออกมา แล้วทิ้งเธอไว้ในถังขยะ 

“แล้วข้อมูลเหล่านี้มาหลอกหลอนเธอได้ไง ในรอยสักของส้ม ผมพบชื่อๆ หนึ่ง เธอบอกว่าเป็นชื่อแรกที่ข่มขืนเธอตอนอายุ 6 ปี และอีกชื่อเป็นคนข้างบ้านที่ข่มขืนเธอตอนอายุ 8 ปี เราใช้เวลาล้วงเข้าไปในใจส้มนานมาก นานจนผู้พิพากษาไม่ยอมให้เลื่อนคดีความ ท่านอยากให้รีบปิดคดี เพื่อส่งเด็กต่อไปสู่กระบวนหลัก ซึ่งเธอต้องโดนลงโทษ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่อยู่ในใจ มันไม่จบ ต่อไปเด็กคนนี้ก็จะสร้างรอยร้าวในสังคมต่อไป ถ่ายทอดสิ่งที่เขารับมา แต่ถ้าวันหนึ่งสิ่งที่เขาได้รับ ถูกเปิดเผยออกมา แล้วให้คนที่เกี่ยวข้องยอมรับ และสำนึกผิดอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าเด็กคนนี้จะเปลี่ยนความคิด แต่สุดท้ายคดีความของส้ม ผู้พิพากษายอมเลื่อนการพิจารณา แต่วันนี้ส้มไม่อยู่แล้ว เธอติดเชื้อเอชไอวี และเธอเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ผมทำงานนี้ต่อไป”

อนันต์ บอกว่า งานอาสาเหล่านี้ เขาทำเพื่อตัวเขาเอง เพราะเขาเองก็มีลูกๆ ที่อาจเข้าไปเกี่ียวข้องกับคนเหล่านี้ในอนาคต ซึ่งเขาไม่อาจรู้ได้เลย

 "ผมมีลูกสามคน ผมมีความเชื่อว่า ลูกผมหนึ่งในสามต้องมีสักคนเข้าไปอยู่กับคนแบบนี้ ก็คือ คนที่เคยติดยาและถูกพ่อแม่ทำร้าย ผมอยากถามว่า เรากำลังสร้างสังคมแบบไหนให้ลูกเรา ถ้าเราแก้ไขคนกลุ่มนี้ให้ปรับตัวเป็นคนดีได้ หากในอนาคตลูกของเราไปเจอคนแบบนี้ ก็จะไม่เจอปัญหา และไม่ถูกชักนำไปสู่ปัญหา ผมมองแค่ว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากตัวเรา"

3.

การแก้ปัญหาแบบบูรณาการในแบบของเขา  จึงไม่ใช่แค่ให้สังคมรับรู้ปัญหา แต่เขาลงไปช่วยให้คนเหล่านี้ก้าวเดินต่อไป

"ผมอยู่ในวงการนี้สิบกว่าปี เจอปัญหาเด็กติดยา เด็กผู้หญิงท้อง เด็กถูกใส่ร้ายเอายายัดเยียดให้ กระทรวงศึกษาบอกว่า ห้ามไล่เด็กพวกนี้ออกจากโรงเรียน แต่สังคม ทั้งครูและเพื่อนบีบเด็ก จนเรียนหนังสือไม่ได้ เด็กเหล่านี้ต้องไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน ที่นั่นไม่มีการเทียบระดับชั้นที่เด็กเรียนมา บางคนต้องกลับไปเรียนมัธยมปีที่ 4 ใหม่ ก็จะตกรอบตกรุ่น ผมจึงหันมาทำเรื่องการศึกษาด้วย เปิดสมาคมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและส่งเสริมอาชีพ-สกสอ รองรับเด็กกลุ่มนี้ ครูบาอาจารย์ที่สอนก็ช่วยหาทุนเรียนฟรี โดยศูนย์การเรียนตามกฎกระทรวง รับรองการศึกษาเหมือนโรงเรียนทั่วไป

ถ้าเด็กมีปัญหา ศาลส่งมาที่นี่ เราก็ช่วยบูรณาการความรู้ให้เหมาะกับเขา เด็กคนไหนท้องก่อนวัยเรียน เราทำแผนการเรียนให้ที่บ้าน ไม่ต้องมาเรียน ประเมินที่บ้านเลย และเมื่อเพื่อนๆ เรียนจบมัธยมปีที่ 6 เธอก็เรียนจบพร้อมเพื่อน และทำให้พวกเขาเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้  เราไม่เคยจ่ายสตางค์จ้างครู แต่มีอาจารย์เก่งๆ มาสอน เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชน เราทำให้เด็กที่ถูกจับและถูกพิจารณาในชั้นศาลแล้วผู้พิพากษาสั่งให้ส่งมาเรียนที่นี่ โดยไม่เสียเงิน และเคยมีคนติดต่อขอเฟรนไชส์ ขอซื้อหลักสูตร งานแบบนี้ถ้าไม่รักจริงทำฟรีๆ ไม่มีใครทำได้หรอก ผมช่วยวางระบบ ทำเจ็ดกลุ่มวิชาหลักตามกระทรวงเลยครับ และเปิดช่องวิชาชีพให้เด็กๆ ด้วย" อนันต์เล่า 

อาศัยว่า เขามีเครือข่ายและเพื่อนที่คิดแบบเดียวกัน อยากช่วยเหลือสังคม อนันต์เล่าว่า การที่เรามีงานหลายกลุ่มที่ทำ ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับงานได้ง่ายขึ้น 

"เมื่อก่อนไม่มีตำแหน่ง ทำงานยากมาก พอได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้พิพากษาสมทบ ตอนนี้ใครๆ ก็เรียกท่าน (หัวเราะ) ทำงานง่ายขึ้น และผมมีเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนนักธุรกิจ เพื่อนนักสังเคราะห์ที่คิดเหมือนกัน เจอปัญหาเชิงระบบของรัฐที่อยากช่วย แต่ช่วยไม่ได้ มีใจแต่ไม่อำนาจ ก็มาช่วยกันทำงานตรงนี้

ผมทำงานในศาลกับเด็กเยอะมาก ผมพบว่า ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ที่มาครอบครัวที่ดีพ่อแม่มีฐานะ แต่สังคมรอบข้างไม่ดี ความรักในครอบครัวจึงไม่เข้มข้นพอจะเหวี่ยงเด็กให้พ้นแรงกระทบ แม้จะมีสถาบันทำงานเรื่องนี้เยอะ แต่ส่วนใหญ่ทำแค่ให้ข่าว ผมมองว่า การแก้ไขแบบนี้ต้องมีแผนฟื้นฟูระยะยาว ต้องบริหารจัดการตามแผนได้ ไม่ใช่แค่พูดให้คำปรึกษาและคำปลอบโยน เราต้องลงมือช่วยจริงๆ  ยกตัวอย่าง ถ้ามีปัญหาเรื่องเงิน เราแก้ด้วยวิชาชีพ บางคนเราให้ฝึกอาชีพขายกาแฟ แล้วหาสถานที่ให้ เพื่อชีวิตของเขาจะได้ไม่อยู่กับคนติดยา ถ้าเขามีเงินใช้ คงไม่มีใครอยากค้ายาเสพติด "

เมื่อถามถึงการทำงานฟื้นฟูระยะยาว อนันต์บอกว่า  มีทีมงานอาสาสมัครประจำกว่า 20 คน และอาสาสมัครเข้าออก 100 กว่าคน 

"ผมก็ให้โครงสร้าง แนวทาง และฝึกอบรม เอาคนหลากหลายอาชีพมาช่วย ในต่างประเทศก็ใช้โครงสร้างแบบนี้ แต่บ้านเราเอาคนเกษียณมาให้คำปรึกษา พวกเขาก็จะทำได้แค่อธิบาย เล่า สอนและด่า คนติดยาหรือวัยรุ่นที่มีปัญหา แต่มุมที่ผมทำคือ ให้ความรู้ เยียวยา และบูรณาการองค์ความรู้

ถ้าเป็นเคสของศาลเยาวชนเด็กและครอบครัว พวกผมจะติดตามพฤติกรรมอยู่ 3 ปี ถ้าเป็นเด็กวัยประถม 5-6 จะติดตามอยู่ 6 ปี เพราะเป็นวัยรุ่นตอนต้น ถ้าไม่ดูแลต่อในช่วงเป็นว้ัยรุ่นตอนกลางและตอนปลาย โอกาสจะมีปัญหา ย่อมมีแน่นอน

 ผมอยากชวนให้เปลี่ยนมุมมองและความคิดที่เคยมองว่าผู้ติดยาไม่ดี เพียงเพราะเขาไม่ใช่คนในครอบครัว ผมคิดว่า เพียงแค่เปลี่ยน และส่งต่อความคิดนี้ คนทั้งประเทศก็เปลี่ยนได้"

   หมายเหตุ : ดูเพิ่มได้ที่เฟซบุ๊ก พี่ชาลี และเพจ Thai Counselor (เป็นเพจที่ให้ความรู้และคำปรึกษาของพี่ชาลี

..................................

ผู้เขียน : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ภาพลีด : ภาพจากกิจกรรมอื่น ไม่ใช่ภาพเยาวชนในสถานพินิจ