เขย่าพอร์ตแก้เกมจีน กระจายเสี่ยง“กู้เที่ยวไทย”

เขย่าพอร์ตแก้เกมจีน กระจายเสี่ยง“กู้เที่ยวไทย”

วิกฤติตลาดจีนทรุด ฉุดภาพรวมเที่ยวไทยติดลบ สัญญาณชี้พึ่งตลาดจีนเกินไป รัฐเร่งแผนรบ“แก้เกม”เขย่าพอร์ตกระจายเสี่ยง เปลี่ยนผ่านยุค“แมส ทัวริสซึม” สกรีน“นักท่องเที่ยวคุณภาพ”

ท่องเที่ยวไทยกำลังไปได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี2561 เติบโตถึง 12% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 19 ล้านคน โดยตลาดนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยขยายตัวถึง 40-50% 

ทว่า การเติบโตร้อนแรงต้องสะดุดลง ! เมื่อไทยเผชิญวิกฤติท่องเที่ยวจีน 2-3 เหตุการณ์ติดต่อกัน ตั้งแต่เรือฟีนิกส์นักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้มีเสียชีวิต 47 ราย ในช่วงเดือนก.ค.ตามมาด้วยเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ไทย ทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นำมาซึ่งมาไม่เชื่อมั่นต่อความปลอดภัยการท่องเที่ยวไทย

จนเกิดการขยายวงข่าวลือสนั่นโซเชียลมิเดียในจีนซ้ำเติมท่องเที่ยวไทยว่า เมืองไทยไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนมาไทยฉุดตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนหดตัวตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่เกิดเหตุเรือล่ม ก่อนจะติดลบต่อเนื่องนาน5เดือนจนถึงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา 

ขณะที่ในเดือนต.ค.เดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 2,712,033 คน ลดลง 0.51% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถือเป็นการติดลบเดือนแรกในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากการหดตัวลงของนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงถึง 19.8%

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวต้องเร่งกู้ภาพลักษณ์ แก้วิกฤติความเชื่อมั่น ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามยาวถึงเทศกาลตรุษจีนปี2562

แม้ว่าสถิตินักท่องเที่ยวจีนมาไทยในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดือนก่อน เดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ2.5หมื่นคน แม้จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับจากเดิมที่ต่ำกว่าวันละ2หมื่นคน

โดยต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ทีว่านี้ สั่นคลอนภาพรวมของการท่องเที่ยวไทย บนเป้าหมายท่องเที่ยวต่างชาติ 38 ล้าน และคนไทยท่องเที่ยว 167 ล้านคน-ครั้ง ทำรายได้ 3 ล้านล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ในไทย ทั้งในเชิงปริมาณ และรายได้

ทว่า ถึงที่สุดแล้ว ท่องเที่ยวไทยในปี 2561 ก็ยังทำได้ตามเป้า แบบ “หืดขึ้นคอ” 

ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สรุปภาพรวมนักท่องเที่ยวไทยในปี 2561 ว่า ปิดตัวเลขท้ายปีตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 38 ล้านคน มาจากนักท่องเที่ยวจีนถึง 10 ล้านคน หรือ ประมาณเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ทำรายได้ตามเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท

“นักท่องเที่ยวตลาดจีนหายไปกว่า 40% จากเหตุการณ์เรือล่ม ตามมาด้วยเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบิน จนกลายเป็นเรื่องดราม่าในโลกโซเชียล สร้างกระแสคนไทยไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน”

เขามองว่า แม้นักท่องเที่ยวจีนลดลงในบางเดือด แต่ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่ลดลง เพียงแต่เติบโตไม่หวือหวา แบบ 2 ดิจิท หรือ 15-20% อย่างที่ผ่านมา ปิดท้ายปียังดีที่ตลาดกลับมาฟื้นตัว จากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง  (VoA-Visa on Arrival) แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ20ประเทศ กับอีก1เขตเศรษฐกิจ (รวมจีน) เป็นระยะเวลา60วัน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่15พ.ย.2561 ถึงวันที่13ม.ค.2562 กู้วิกฤติดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมากระเตื้อง บวกกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นเติบโตทุกตลาดจนปิดท้ายที่ตัวเลขเป็นบวก

“เราคุ้นเคยกับการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนระดับ 15-20% เราจึง panic(วิตก)เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวตก 40% ดีที่ต้นปีทำไว้ดี และในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปีนักท่องเที่ยวกลับมาทำให้ภาพรวมไม่ตกขยายตัวประมาณ 3%”

ขณะที่คาดการณ์ในปี 2562  มองว่านักท่องเที่ยวจีนจะเติบโตจากเดิมไม่มากนักราว 2-5% จาก 10 กว่าล้านคน รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยประมาณ 40 ล้านคน เติบโต 5.54% ทำรายได้เข้าประเทศ 2.29 ล้านล้านบาท

ตลาดจีนทรุดจากหลายเหตุการณ์ถาโถม สะท้อนชัดว่า การท่องเที่ยวไทยพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป จึงเป็นความเสี่ยง เมื่อตลาดจีนตก ภาพรวมท่องเที่ยวไทยก็ตกตาม ทั้งที่ตลาดอื่นยังเติบโต ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และอาเซียน

“หัวใจของการทำตลาดต้องเขย่าพอร์ตกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาตลาดประเทศใด ประเทศหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเป็นมีความเสี่ยงมาก” เขาเล่าถึงจุดที่ฉุดให้ภาพรวมท่องเที่ยวไทยวิกฤติในปีที่ผ่านมา

โดยในปี2562 นอกจากวิกฤติจากนักท่องเที่ยวจีนหดหายจากความไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแล้ว จีนยังมีความเสี่ยงจาก "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน อาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลง 

**คุมพอร์ตจีนโตไม่เกิน30%

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายพอร์ตรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดอื่น แต่เขายอมรับว่า จีนถือเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศ “ที่ทิ้งไม่ได้” แต่ควรจัดพอร์ตให้เหมาะสมไม่ให้น้ำหนักเกินไปจนกุมความเสี่ยงของท่องเที่ยวไทยทั้งประเทศ เขาย้ำ 

“รายได้จากจีน1ใน3 ถังข้าวสารที่เราทิ้งไม่ได้ต้องดูแล แต่ดีที่สุดอย่าให้เกินสัดส่วน 30% ของพอร์ตรายได้ท่องเที่ยว”

จึงถึงเวลาต้องตั้งหลักเขย่าพอร์ตสัดส่วนนักท่องเที่ยว เบนความสนใจไปหาตลาดใหม่ที่มีโอกาสมาแรงไม่แพ้กัน คือ กลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ ตลาดใกล้บ้านเดินทางง่ายปีที่ผ่านมาอยู่ที่กว่า 9 ล้านคน ปีนี้มีโอกาสขยับไปเกือบเท่าๆกับจีนที่ 10 ล้านคน หากบุกหนักจะเพิ่มสถิติเท่าจีนได้

โดยช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2561 นักท่องเที่ยวอาเซียนเดินทางมาไทย จำนวน 9.1 ล้านคน ประกอบด้วย มาเลเซีย 3.5 ล้านคน, สปป.ลาว 1.5 ล้านคน, กัมพูชา 7.9 แสนคน, เวียดนาม 9.5 ล้านคน และเมียนมา 3.3 แสนคน,อินโดนีเซีย 5.8 แสนคน, ฟิลิปปินส์ 3.9 แสนคน, สิงคโปร์ 9.3 แสนคน และบรูไน 1.1หมื่นคน

ตลาดอาเซียนเป็นตลาดความหวังทดแทนยอดนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป

เศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นดาวรุ่ง (Rising Star) โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน (ซีแอลเอ็มวี) ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เศรษฐกิจเติบโตกว่า 5-6% จึงตัดสินใจเดินทางมาไทยง่าย วันหยุดสุดสัปดาห์ก็มาได้ ที่สำคัญประเทศไทย เป็นเป้าหมายในใจที่คนอาเซียนอยากมาเยือน

ทว่า แม้จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอาเซียนให้ใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวจีนได้ไม่ยาก สิ่งที่แตกต่างคือ ยอดการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวอาเซียน ในปัจจุบันที่ยังเป็นรองจีน โดยนักท่องเที่ยวอาเซียนมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวันอยู่ที่ 2-3,000 บาท ขณะที่จีนมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวันอยู่ที่ 5-7,000 บาท

“การเพิ่มความถี่ในการเดินทาง เป็นวิธีการหนึ่งทำให้รายได้การท่องเที่ยวตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น"

ไม่เพียงอาเซียนที่เป็นดาวรุ่งในการตัดสินใจมาเที่ยวไทยมากขึ้น ตลาดอื่นๆ ก็เติบโตได้ดีไม่แพ้จริง โดย 5 อันดับประเทศที่เดินทางท่องเที่ยวไทยสูงรองจากจีนในปี 2561  ได้แก่ มาเลเซีย 3.57 ล้านคน, เกาหลี 1.6 ล้านคน, สปป.ลาว 1.59 ล้านคน และญี่ปุ่น 1.5 ล้านคน รวมถึงอินเดีย เป็นอีกประเทศที่มาแรงในปีที่ผ่านมา ประชากรเกือบเท่าจีน และมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2561 เดินทางมาไทย 1.4 ล้านคน

โดยรวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยเติบโตในทุกตลาด ยกเว้นจีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองและสงครามการค้า รวมถึงตะวันออกกลางยกเลิกนโยบายท่องเที่ยวสุขภาพในการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย

**เฟ้นนักท่องเที่ยวแดนมังกร

เขายังระบุว่า จังหวะนี้ยังเหมาะที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส” ในช่วงที่มีการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนได้รับบทเรียนราคาแพง จากเรือฟีนิกซ์ล่ม ในการหันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT -Foreign Individual Tourism) ซึ่งเป็นกลุ่มมีคุณภาพจากจีน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความรู้และมีกำลังซื้อ ต้องการการบริการการท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากับเงิน (Value for Money) มากกว่าราคาถูก ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรง 

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวFITจากจีนมาไทยสัดส่วน 70% ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวมากับบริษัททัวร์เอเจนซี่ 30% ซึ่งทิศทางกลับกันจากในช่วงเริ่มต้นที่นักท่องเที่ยวจีนมาไทยส่วนใหญ่มาเป็นหมู่คณะถึง 70%

เป็นเวลาที่จะช่วงชิงการทำการตลาดปรับฐาน จับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่อาศัยอยู่เซียงไฮ้ ปักกิ่ง โดยทำการตลาดผ่านผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ (Influencers)

ปีนี้มีโอกาสเจาะเซ็กเมนท์ตลาดบน นำเสนออาหาร แต่งงาน สปา หรือท่องเที่ยวกับครอบครัว” 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องบริหารจัดการ คือฝั่งซัพพลาย แหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ความปลอดภัย อาหาร โรงแรม ที่ยังมีปัญหาซัพพลายล้น กระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทำให้ขายตัดราคา จนไทยถูกมองในภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวราคาถูก (Mass Tourism)

**“3แม่เหล็กผลักพ้นแมสทัวร์ริส

รองผู้ว่าททท. มองว่า ยุคนี้ทำการตลาดกลางๆ ขายหมดทุกอย่างไม่ได้ เพราะการกวาดตลาดแมส ทำให้นักท่องเที่ยวขยายตัวเฉลี่ยเท่ากับเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 6.5%ต่อปี จะทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไทยอย่างมหาศาล ในปี 2563 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะขึ้นไปแตะที่ 41.5 ล้านคน แต่หากรักษาอัตราการเติบโตตามอดีตที่ไทยทำไว้เฉลี่ย 15% ต่อปี จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยถึง 71 ล้านคน เทียบเท่ากับประชากรไทย

นี่จึงเป็นจุดพลิกที่ไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่หันไปเน้นคุณภาพของการเดินทาง

ปีนี้ จะเป็นปีที่เริ่มคัดกรองให้กราฟการท่องเที่ยวไทยเติบโตไปพร้อมฐานที่มั่นคง ยั่งยืน คัดกรอบนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายสถานที่ท่องเที่ยว นี่คือที่มาของการคัดกรองนำเสนอกลุ่มลูกค้าให้ชัดตามเป้าหมาย (Segmentation) มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง จึงต้องนำเสนอไฮไลท์ของไทย คือ อาหาร กีฬา และ แต่งงาน เพราะนักท่องเที่ยวยุคนี้มีการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเพื่ออะไร

เป็นยุคที่ต้องสื่อสารตลาดให้อารมณ์และความรู้สึก (Mood &Tone) ให้ต่างชาติเห็นภาพเลย เมืองไทยมีหลากหลายพูดกลางๆ ไม่ได้ เน้นย้ำโซนที่มีความโดดเด่นเอกลักษณ์ไทย

สำหรับ 3 แม่เหล็กดึงดูดผลักดันให้ไทยก้าวพ้นจากความเป็นแมสทัวร์ริสซึม เริ่มต้นที่ท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food Tourism) ตอกย้ำความเป็นชาติที่มีแหล่งท่องเที่ยวและอาหารระดับโลก โดยการดึงมิชลิน สตาร์ เข้ามาร่วมโปรโมทอาหารไทย เป็นสปริงบอร์ดพาไทยไปสร้างการรับรู้ระดับโลก ให้คนเข้าชิมอาหารไทย ขณะเดียวกันก็มีการสอดแทรกอาหารพื้นถิ่นในเมืองรอง เป็นผู้เล่นตัวใหม่ที่หยิบยกเข้ามา มีการจัดทำงานเทศกาลอาหารไทย ที่สร้างความเป็นแบรนด์ถึงการอยากทานอาหารดีๆ ต้องเดินทางมาไทย ข้อมูลปี 2559 พบว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วน 20%ของค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวทั้งหมด ถือเป็นตัวเลขที่จับถูกจุดในการเพิ่มมูลค่าให้กับท่องเที่ยวไทย

ท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport tourism) เลือกจัดกิจกรรมกีฬาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว สัก 4-5 ชนิด ประกอบด้วย กอล์ฟ ,แข่งรถ เช่น มอโต้จีพี,วิ่งมาราธอน, จักรยาน และมวยไทย ร่วมกับทัวร์นาเมนท์ระดับโลก และการสร้างแบรนด์การรับรู้กีฬาระดับโลกขึ้นเองในไทย เป็นการดึงคนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมพร้อมกับท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวแต่งงาน และท่องเที่ยวหลังแต่งงาน (Wedding &Honey Moon) ทำให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้เป็นสถานที่แต่งงาน และท่องเที่ยวหลังแต่งงาน เช่น อินเดียที่มาแต่งงาน พร้อมกับครอบครัวเดินทางมาท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาลต่องานแต่งงานหนึ่งครั้ง หรือ ชาวยุโรป ก็นิยมมาฮันนีมูนในไทย ซึ่งปี 2559 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเพื่อแต่งงานและฮันนีมูนจำนวน 9.2 แสนคน 

-------------------------------

มุมมองเอกชนท่องเที่ยว

ต้องเป็นปลาเร็วกินปลาใหญ่

วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เผยถึงเทรนด์การทำการตลาดภาคเอกชนจะต้องล้อไปกับนโยบายภาครัฐ เพื่อเติบโตไปตามกระแสและทิศทางการท่องเที่ยวไทย ในยุคที่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หากไปแข่งขันตลาดรวมแมส ก็แข่งไม่ได้ รายใหญ่กวาดไปหมด เพราะเจ้าใหญ่ที่มีเครือข่ายการบริการ มีแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเข้ามาสร้างเครือข่ายในประเทศไทยหมดแล้ว จึงได้ส่วนแบ่งเฉพาะรายใหญ่

ดังนั้น การพลิกหาตลาดโดยชูจุดขายเป็นรายเซ็กเมนเทชั่น จึงเป็นทางออก นำเสนอการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เพื่อกวาดตลาดนักท่องเที่ยวอิสระหรือ FIT ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่มีโอกาสกระจายรายได้ไปสู่เมืองรองได้ เช่น ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เข้ามาดูแลสุขภาพ หรือเสริมสวยควรเจาะกลุ่มประเทศใด หรือเชิงกีฬา มีการจัดตีกอล์ฟ หรือ แต่งงาน จะต้องเข้าไปหาประเทศใด คนกลุ่มไหน ต้องวางแนวทางการทำตลาดให้ชัดเจน

หากทำตลาดแบบเดิม ก้องต้องตกอยู่ในสภาพปลาใหญ่กินปลาเล็ก ถูกรายใหญ่เข้าไปสร้างเครือข่ายกินส่วนแบ่งอยู่แล้ว จึงต้องหาตลาดใหม่ เซ็กเมนท์ใหม่ และเปิดพื้นที่ใหม่ในเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ให้คนรายเล็กได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่จะต้องปรับตัวรบเป็นปลาเร็วในตลาดใหม่

ด้านชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เสนอแผนในนามเอกชน ที่จะต้องเดินหน้าการทำงานคู่กับภาครัฐ หลังจากเกิดวิกฤตินักท่องเที่ยวจีน ก็ต้องเริ่มต้นฟื้นความเชื่อมั่น ชื่อเสียงของการท่องเที่ยวไทย ด้านมาตรการความปลอดภัย และการกระจายรายได้สู่ชุมชน

เขายอมรับว่าที่ผ่านมามีเอกชนบางรายที่ทำการตลาดแบบแบ่งการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างชาวตะวันตก และชาวจีน จึงต้องฟื้นความเชื่อมั่นชาวจีนไปพร้อมกันกับจัดมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยขึ้นมาใหม่ เช่น การตั้งคณะกรรมการดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยในกลุ่มภาคเอกชน

“เอกชนต้องปรับตัว ในอดีตผู้ประกอบการไม่ได้สนใจเรื่องการดูแลนักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มFIT มากขึ้นก็ต้องการการบริการที่ดีมีคุณภาพ ไม่กลัวของแพงแต่ต้องการการต้อนรับอบอุ่น”

นักท่องเที่ยวจีนเป็นสัดส่วนทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 60 % ของมูลค่าทำรายได้จากต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ที่มีกำลังซื้อที่จะต้องดูแลให้ดี และเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

“ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลังจากวิกฤติเรือล่ม มีการกวาดล้างบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นนอมินี และยังลดปริมาณบริษัทท่องเที่ยวจัดแพ็คเกจทัวร์ศูนย์เหรียญ แบบตีหัวเข้าบ้าน หวังหารายได้จากการซื้อสินค้าปลายทาง ไม่มีอีกต่อไปแล้ว”

เขามองว่า ปี 2562 เป็นปีที่เริ่มจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และหันมาดูเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ มีกำลังซื้อและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยว FITที่เป็นคนรุ่นใหม่ถึง 90% ท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์จากการท่องเที่ยวมากกว่าขายการท่องเที่ยวรูปแบบเดิม ซึ่งจะเป็นกลไกให้กลุ่มธุรกิจปรับตัวจากแข่งขันด้านราคา มาสู่การแข่งขันด้านคุณภาพการบริการ

ด้านอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน คือการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน มีเครื่องหมายรับรอง ในโรงแรม ร้านอาหารและร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รวมถึงการหาตลาดใหม่ๆ จัดสมดุลกระจายตลาด พร้อมกับบริหารจัดการด้านซัพพลายไซส์ คือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ควบคู่กับการเติบโตของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้คือการเชื่อมโยงตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อทำตลาดร่วมกัน และดึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ปี 2562 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ต้องีนำเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคร่วมกัน