สั่ง14จังหวัดภาคใต้ รับมือฝนตกหนัก จากอิทธิพลพายุปาบึก

สั่ง14จังหวัดภาคใต้ รับมือฝนตกหนัก จากอิทธิพลพายุปาบึก

ปภ.ประสานจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรงจากอิทธิพลพายุ "ปาบึก" ในช่วงวันที่ 3 – 5 ม.ค. 62

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน "ปาบึก" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวณ และเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทย ในวันที่ 3 มกราคม 2562 และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทย บริเวณรอยต่อจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำวันที่ 4 มกราคม 2562 ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562
โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง รวมถึงอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3 – 5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดสถานการณ์ภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือ ทุกประเภท พร้อมกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเล      ทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยของทางราชการอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป