ส่องประชาธิปไตย‘อาเซียน’ผ่านการเลือกตั้ง

ส่องประชาธิปไตย‘อาเซียน’ผ่านการเลือกตั้ง

ไทย กำลังเผชิญกับบททดสอบด้านประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนก.พ. 2562 นี้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผชิญกับแนวโน้มที่หลากหลายด้านประชาธิปไตย หลังมีการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่แตกต่างกันในปีนี้ ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในมาเลเซีย  ซึ่งทำให้รัฐบาลที่ทุจริตชุดก่อนสูญเสียอำนาจ และอีกครั้งหนึ่งในกัมพูชาซึ่งยิ่งทำให้ผู้นำจอมเผด็จการมีอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น

การเลือกตั้งในมาเลเซียเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาทำให้ทั่วโลกตกตะลึง หลัง “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 92 ปีได้กลับสู่อำนาจอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายค้านชนะพรรครัฐบาลผสม

นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยก่อนหน้า ได้จัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อชิงความได้เปรียบ และเดินหน้าปราบปราม “ข่าวปลอม” ช่วงก่อนเลือกตั้ง ในความพยายามที่จะปิดปากบรรดานักวิจารณ์

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์เหล่านี้กลับไม่ช่วยลดกระแสต่อต้านรัฐบาลของนาจิบเพราะยังมีกรณีอื้อฉาวทุจริตเงิน 4,500 ล้านดอลลาร์ในกองทุนพัฒนามาเลเซีย (วันเอ็มดีบี) ซึ่งนาจิบเป็นผู้ก่อตั้งและกำกับดูแล

ขณะที่ในกัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งขึ้นจากการเลือกตั้งที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของเขาได้เก้าอี้ส.ส.ทั้งสภา หลังศาลฎีกาตัดสินยุบพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศอย่าง “พรรคกู้ชาติกัมพูชา” (ซีเอ็นอาร์พี) ในปีที่แล้ว ด้วยข้อกล่าวหาว่าพรรควางแผนที่จะโค่นอำนาจรัฐบาลโดยร่วมมือกับสหรัฐ

นอกจากนั้น กัมพูชายังสั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษที่มักวิจารณ์รัฐบาล ด้วยการบังคับขายกิจการให้กับนักธุรกิจชาวมาเลเซียโดยอ้างว่าหนังสือพิมพ์รายนี้ค้างชำระภาษีให้แก่รัฐ

ขณะเดียวกัน สมเด็จฮุน เซนยังใช้กฎหมายที่เข้มงวด ปิดกั้นการวิจารณ์โดยสาธารณะเกี่ยวกับการทุจริตของรัฐบาล

ทั้ง 2 ประเทศจัดการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556 ช่วงที่ฝ่ายค้านได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเกือบได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล แต่ 5 ปีต่อมา เส้นทางของกัมพูชาและมาเลเซียกลับสวนทางกัน

แม้มาเลเซียจะมีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยหลังปิดฉากการปกครองโดยรัฐบาลขั้วเดียวนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2500 แต่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเผชิญกับแนวโน้มประชาธิปไตยที่มืดมน

รายงานการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ โดยธนาคารโลกในปี 2560 ระบุว่า อินโดนีเซีย เมียนมาเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคะแนนดีขึ้นจากปี 2539 โดยทะยานมาอยู่ที่อันดับ 101 และ 156 ตามลำดับ

ส่วนอีก 8 ประเทศที่เหลือในภูมิภาคต่างมีอันดับลดลง โดยฟิลิปปินส์หล่นมาอยู่ที่อันดับ 105 และไทยร่วงมาอยู่ที่อันดับ 161

ฟิลิปปินส์และไทย เป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 ขณะที่อินโดนีเซีย  เริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังหมดยุคอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 2541 และเมียนมาเริ่มการปฏิรูปสู่ประชาธิปไตยในปี 2554

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเมียนมาเริ่มถดถอยลงในด้านนี้ หลังนักข่าวรอยเตอร์ 2 คนที่รายงานเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐยะไข่ ถูกดำเนินคดีและจำคุกในปีนี้ ด้วยข้อกล่าวหาว่าเปิดเผยความลับราชการ

นอกจากนั้น บทบาทที่ลดน้อยลงของสหรัฐและอิทธิพลที่มากขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ยังมีส่วนสำคัญ ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา จีนได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือแก่กัมพูชาและเมียนมา ซึ่งต่างเผชิญกับเสียงวิจารณ์จากสหรัฐทั้งคู่

จีน กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโดยใช้การสกัดกั้นการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศอย่างเด็ดขาด แนวทางนี้อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้บรรดาผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำไปใช้เพื่อประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเหมือนกับจีน

ไทย กำลังเผชิญกับบททดสอบด้านประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนก.พ. 2562 แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนอย่างเต็มตัว หลังการรัฐประหารในปี 2557 แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจยังได้อยู่ในอำนาจต่อไปด้วยการระดมเสียงจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนกองทัพ