รมว.แรงงาน รับ 14 ข้อเรียกร้อง เจรจาประมงชื่นมื่น

รมว.แรงงาน รับ 14 ข้อเรียกร้อง เจรจาประมงชื่นมื่น

"รมว.แรงงาน" รับ 14 ข้อเรียกร้อง เจรจาประมงชื่นมื่น ลั่น 1 เดือนได้ข้อยุติ ก่อนยื่น C188 30 ม.ค.62

มื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและทบทวนกฎหมายในกิจการประมง ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้แทนสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เข้าร่วมในครั้งนี้


โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึงข้อเรียกร้องของสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 14 ข้อ ได้แก่ 1) การจ่ายเงินเดือนผ่านตู้เอทีเอ็มซึ่งเป็นปัญหาและสร้างภาระให้กับนายจ้าง/ลูกจ้าง และการแก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ 2) นิยามของเรือประมงเพื่อยังชีพยังไม่ชัดเจน เรือประมงพื้นบ้านจะต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยหรือไม่ 3) การเปิดโอกาสให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบประกันสังคม 4) อัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และการเรียกเงินคืนจากกองทุนฯ กรณีลูกจ้างอยู่ไม่ครบปี 5) การจัดที่พักอาศัยบนเรือประมง จะบังคับใช้กับเรือต่อใหม่ที่มีดาดฟ้าและมีขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไปเท่านั้น 6) แนวทางและประเภทเรือที่ต้องขอใบรับรองการตรวจสภาพเรือ 7) ความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม 8) การเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถฝึกงานในเรือประมงได้ 9) การกำหนดเงื่อนไขการส่งตัวแรงงานกลับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด นายจ้างไม่ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 10) การนำเข้าแรงงานตาม MOU ใช้เวลานาน มีภาระค่าใช้จ่าย ขอให้ควบคุมปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีจากนายจ้าง 11) แรงงานตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว ไม่เห็นด้วยหากกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสายตา และการได้ยิน และขอให้จัดทำคู่มือ/แนวปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วย12) การนับชั่วโมงพักและการกำหนดชั่วโมงพักให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานบนเรือประมงแต่ละประเภท 13) ขอให้แก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือ และ 14) การกำหนดอัตรากำลังในเรือ ควรกำหนดเป็นอัตรากำลังขั้นสูงสุดที่สามารถออกไปทำการประมงได้ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานชุดเล็กขึ้นมาพิจารณาตอบข้อเรียกร้องในแต่ละข้อ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของชาวประมงทั้ง 14 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 188 นั้นมีเพียง 4 ข้อที่เพิ่มเติมมาเท่านั้น ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปีของลูกจ้าง 2) การส่งแรงงานประมงกลับจากท่าเรือต่างประเทศ 3) การประกันสังคม 4) การปฏิบัติและการใช้บังคับที่จะต้องมีใบรับรองการตรวจเรือ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพการทำงานบนเรือ


พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังได้มอบหมายให้ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงาน โดยให้ นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นเลขานุการ จัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อประชุมพิจารณาตอบข้อเรียกร้องของสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเลทั้ง 14 ข้อ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสมาคมประมงจาก 22 จังหวัด ให้ได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน ส่วนการยื่นรับรองอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 188 นั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปลายเดือนมกราคม 2562 นี้ โดยภายหลังการประชุม รมว.แรงงาน ยังได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มชาวประมงที่มาเฝ้ารอฟังผลการประชุมในครั้งนี้อีกด้วย