ทัศนคติใหม่ 'นวัตกรรมดิจิทัล' บนจุดเปลี่ยนเทคโนโลยี

ทัศนคติใหม่ 'นวัตกรรมดิจิทัล' บนจุดเปลี่ยนเทคโนโลยี

แวดวงดิจิทัลกำลังเผชิญกับภาวะการเก็บกวาดครั้งใหญ่ ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าอะไรที่ยังคงมีคุณค่าและมีความสำคัญ

รายงาน “ฟยอร์ด เทรนด์ 2019(Fjord Trends 2019)” โดย “เอคเซนเชอร์” ระบุว่า อีกมุมหนึ่งของการที่องค์กรต่างๆ มุ่งลงทุนด้านนวัตกรรมกันจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่านวัตกรรมเหล่านั้นมีจำนวนมากเกินรับไหว 

อีกทั้งยังเบียดบังเวลาและความเอาใจใส่ที่องค์กรควรให้กับลูกค้า ในอดีตจากที่เคยโหยหาความแปลกใหม่ ความน่าตื่นเต้น และความสุขเฉพาะหน้า แต่ปัจจุบันกลับมองหาความสงบและสาระท่ามกลางโลกที่แสนวุ่นวาย ผู้คนและองค์กรต่างๆ จึงกลับมาย้อนสำรวจจิตใจและความรู้สึกเพื่อค้นหาคุณค่าที่แท้จริงในชีวิต หันหลังให้กลับผลิตภัณฑ์และการบริการทั้งหลายที่ไม่ตอบสนองความต้องการ ความผูกพันที่มีให้กับเทคโนโลยีและแบรนด์ทั้งหลายจึงเปลี่ยนแปรไป

นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า แวดวงดิจิทัลกำลังเผชิญกับภาวะการเก็บกวาดครั้งใหญ่ ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าอะไรที่ยังคงมีคุณค่าและมีความสำคัญ  

“ทุกวันนี้ ดิจิทัลได้แพร่หลายดาษดื่นมากจนไม่มีความแปลกใหม่ คนจึงจัดระเบียบเลือกสรรผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาจริง ๆ อาจตัดบางอย่างออกไป อาจเลิกรับข่าวสารความเคลื่อนไหวถ้าเห็นว่าไม่คุ้มกับคุณค่าที่ได้รับ การออกแบบหรือดีไซน์จึงมีบทบาทมาก และสำคัญยิ่งกว่าทุกยุคที่เคยเป็นมา”

7 แนวคิดสร้างกรอบใหม่

เขากล่าวว่า กรอบความคิด(mindset) ที่เปลี่ยนไปส่งผลสำคัญในหลายด้าน ขณะเดียวกันก็ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่อีกมหาศาล สำหรับทั้งตัวองค์กรและประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ จึงถึงเวลาแห่งการทบทวนทุกสิ่ง และคิดใหม่ทำใหม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ของลูกค้า ว่าสิ่งที่คนต้องการและให้ค่าจริง ๆ คือสิ่งใด

สำหรับผู้ชนะในปี 2562 จะเป็นองค์กรที่ทำให้คนรู้สึกได้ถึงคุณค่าและความสำคัญ(relevance) ไม่เพียงต่อชีวิตของเขาแต่กับโลกใบนี้ด้วย ซึ่งการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น (value creation) ไม่ใช่เพียงแค่เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องดีกว่าเดิมด้วย 

จากการสำรวจแนวคิด 7 ประการที่คาดว่าจะมีบทบาทกำหนดรูปแบบประสบการณ์ในยุคหน้า พร้อมแนะนำสิ่งที่องค์กรสามารถนำไปปฎิบัติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในภายภาคหน้าได้ ประกอบด้วย

1. นิ่งเสียตำลึงทอง(Silence is Gold) ความรู้สึกว่ามากมายเกินรับไหวกลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพไปแล้ว แบรนด์จึงควรใช้หลักการออกแบบที่ใส่ใจในทุกด้าน(mindful design) ในการเชื่อมโยงตนเองกับผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการสงบจิตสงบใจท่ามกลางโลกอันวุ่นวาย

2.อย่ารอให้ถึงฟางเส้นสุดท้าย (The Last Straw?) แนวคิดเรื่องความยั่งยืนได้รับการพูดถึงมาอย่างกว้างขวางและยาวนาน คนส่วนใหญ่จึงคาดหวังให้ผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ มาพร้อมกับความยั่งยืน ถ้าไม่ยั่งยืน ก็จะไม่สนใจ

3.ข้อมูลแบบมินิมัล (Data Minimalism) ผู้บริโภคและองค์กรมีมุมมองด้านความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลต่างกัน ความโปร่งใสจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างตรงนี้

4.ต้องมองข้ามช็อต (Ahead of the Curb)  ความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง ไล่ตั้งแต่การเริ่มนำสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปจนถึงโดรนมาใช้ ทำให้เกิดความสับสน ไร้ระเบียบ ต่างคนต่างมีแนวทางของตัวเอง ควรถึงเวลาจัดการให้เกิดระบบนิเวศหนึ่งเดียวที่รองรับความต้องการแบบเรียลไทม์ได้

โอกาสทองการปฏิวัติเชิงสร้างสรรค์

5.ทั่วถึงในความต่าง(The Inclusivity Paradox) ปี 2561 ได้ส่งสัญญาณเตือนให้เราหันมารับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่จะออกแบบอย่างไรให้ครอบคลุมทุกความต้องการ ทั่วถึงโดยไม่ตกหล่นใคร จึงควรเลิกมองคนแยกเป็นกลุ่ม ๆ และปรับแนวคิดเสียใหม่

6.พลิกโฉมการจัดการพื้นที่ (Space Odyssey) การใช้พื้นที่เพื่อการทำงานและการค้าต้องพลิกโฉมใหม่หมดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ถึงเวลาที่จะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ในการใช้งาน ทั้งวิธีคิดและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้

7.ความเป็นจริงสังเคราะห์ (Synthetic Realities) เราต่างอยู่ในโลกใหม่ที่แม้แต่ความจริงก็ผ่านการปรับแต่งและสังเคราะห์มาแล้ว หน้าตาคนเรายังสลับกันได้ เสียงและสำเนียงก็จำลองกันได้ ความเป็นจริงที่สังเคราะห์จึงเหมือนจริงอย่างไม่น่าเชื่อ องค์กรจึงควรคิดหาวิธีการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ พร้อมกับจัดการบริหารความเสี่ยงด้วย

“ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสทองของการออกแบบด้วยความใส่ใจและให้ความหมายลึกซึ้ง ซึ่งสามารถนำมาพลิกโฉมสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าในอดีต เราได้มาถึงช่วงการปฏิวัติเชิงสร้างสรรค์ ที่องค์กรควรพลิกให้เป็นโอกาสการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของตนเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลโลกของเราและมวลมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น” นนทวัฒน์กล่าว