ตลอดปี62 เจาะเลือดตรวจผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุทุกราย

ตลอดปี62 เจาะเลือดตรวจผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุทุกราย

4 หน่วยงานเข้ม! มาตรการกลับบ้านปีใหม่ปลอดภัยตลอดปี 62 เจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุจนมีคนบาดเจ็บสาหัส-เสียชีวิตทุกราย ไม่ยอมตรวจถือว่าเมาแล้วขับ ดำเนินการทางกฎหมายทันที

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) แถลงข่าว “สธ.ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว”ว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการดื่มแล้วขับขี่ พบผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น 7 % ในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำโครงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ ในกรณีที่เหตุนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดปี 2562 เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กว่า 69 ล้านบาท

นอกจากนี้ เข้มข้นการดำเนินงานตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้ที่มีอาการเมาสุรา และการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เน้นในลมหายใจในกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการ โดย แจ้งเหตุเร็ว ขยายคู่สายแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 เป็น 300 คู่สายทั่วประเทศ รับเร็ว ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของการออกเหตุทั้งหมด ส่งเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์ในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล ทำการรักษาอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ “ขับรถดีมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,583 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 20,741 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 166,441 คน ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน อสม. และพชอ. ร่วมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การตั้งด่านชุมชน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจเลือดหาปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ในกรณีที่อุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ดำเนินการตลอดปี 2562 เนื่องจากพบว่าสามารถป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับได้ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เพียง 7 วัน พบผู้ขับขี่มีระดับแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สูงถึงเกือบ 60 % แต่มาตรการนี้ส่งผลให้ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและดื่มสุราลดลงถึง 10 %

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับแอลกอฮอล์นั้น เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมาย หากพบว่ามีเหตุอันสงสัยในการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าตรวจได้ อย่างเช่น การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ที่ขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุรุนแรง หากไม่ยินยอมให้มีการตรวจจะถือว่าเมาแล้วขับทุกราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่สถานพยาบาลส่งตรวจ ทราบผลภายใน 7-10 วันทำการ นอกจากนี้ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ มีบริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ หากพบว่าเครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจควรต้องผ่านการสอบเทียบ ตามรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยที่จะมีสติกเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสสส. กล่าวว่า สสส.ชักชวนให้เดินทางปลอดภัย รณรงค์ลดอุบัติเหตุภายใต้แคมเปญ "กลับบ้านปลอดภัย" ผ่านโฆษณาชุด "สูญเสียกันทุกฝ่าย" และบทเพลง "คิดถึง" เพื่อย้ำเตือนถึงความรักของคนในครอบครัวที่รอคอยการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย จากข้อมูลวิชาการพบว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันโดยรถใช้ความเร็วที่ 60 กม./ชม. ความรุนแรงเทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น ถ้าใช้ความเร็วที่ 80 กม./ชม. จะเทียบเท่ากับการตกตึก 8 ชั้น ถ้าใช้ความเร็วที่ 120 กม./ชม. ความรุนแรงเทียบเท่ากับการตกตึก 19 ชั้น แสดงให้เห็นว่า การใช้ความเร็วมากขึ้นทำให้อัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น พร้อมรณรงค์ให้มอบของขวัญสุขภาพดีไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นย้ำเตือน "ให้เหล้า=แช่ง" ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน

ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความใน พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่าหากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือกรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน