เดินหน้ารถไฟทางคู่อีอีซี เชื่อมท่าเรือ-นิคมฯ ลดต้นทุนขนส่ง

เดินหน้ารถไฟทางคู่อีอีซี เชื่อมท่าเรือ-นิคมฯ ลดต้นทุนขนส่ง

รฟท.เดินหน้าศึกษารถไฟทางคู่ เชื่อม 3 ท่าเรือ อีอีซี กระจายสินค้าทั่วประเทศ ลดต้นทุนการขนส่ง คาดเดือนมี.ค.2562 ได้ผลการศึกษาเบื้องต้น หากไฟเขียวใช้เวลาอีก 6 เดือนออกแบบรายละเอียด คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ทันรองรับโครงการอีอีซี

นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ วิศวกรโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบรางเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า โครงการรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกนี้ จะเชื่อมท่าเรือที่สำคัญใน อีอีซี 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าของประเทศ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสูงถึง 80% ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก

ดังนั้นจึงต้องขยายเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงทั้ง 3 ท่าเรือ รองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบังจะเพิ่มจากในปี 2563 จะมีจำนวน 8.5 แสนตู้ ในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านตู้ ในปี 2573 เพิ่มเป็น 2.3 ล้านตู้ ในปี 2583 เพิ่มเป็น 4.3 ล้านตู้ และในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 4.8-5 ล้านตู้ ทั้งนี้ หากคาดการณ์รายจังหวัดในพื้นที่ อีอีซี จะพบว่า จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณสินค้าในปี 2565 จะมีปริมาณ 13.1 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 17 ล้านตันต่อปี จ.ระยองในปี 2565 จะมีสินค้าปริมาณ 35.6 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 44 ล้านตันต่อปี และจ.ชลบุรี ในปี 2565 จะมีสินค้าปริมาณ 78 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 จะมีสินค้า 96 ล้านตันต่อปี รวมแล้วทั้ง 3 จังหวัด ในปี 2565 จะมีสินค้าปริมาณ 126 ล้านตันต่อปี และในปี 2580 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 157 ล้านตันต่อปี

1_56

ในเบื้องต้นแนวเส้นทางรถไฟจากหัวหมากถึงฉะเชิงเทราจะมีทางรถไฟ 3 ทาง จากฉะเชิงเทราถึงศรีราชา จะมีทางรถไฟทางคู่ 2 ทาง และระยะจากศรีราชาถึงมาบตาพุดจะมีทางรถไฟทางคู่ 1 ทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของสินค้า เนื่องจากการขนส่งทางรางมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนนอยู่มาก

“ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะเน้นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือมาบตาพุด จะเน้นเป็นท่าเรือขนส่งก๊าซ และท่าเรือสัตหีบจะยกระดับไปสู่การเป็นท่าเรือท่องเที่ยวที่ทันสมัย รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และเรือเฟอร์รี่ โดยเส้นทางรถไฟจะเข้าไปช่วยขนส่งคน และสินค้าไปยังทุกที่ทั่วประเทศ”

โดยโครงการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 145 ล้านบาท ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ จะใช้เวลา 6 เดือน จะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.2562 ซึ่งจะมีรายละเอียดของงบการลงทุนทั้งหมด รูปแบบการลงทุน และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ หากผลการศึกษาพบว่าโครงการมีความเหมาะสมก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างในรายละเอียดใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จะนั้นจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่ออนุมัติงบประมาณ ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบก็จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ก็จะแล้วเสร็จใกล้เคียงกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

สำหรับ แนวคิดการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ อีอีซี จะมีอยู่ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสารให้มีความรวดเร็ว โดยเน้นการใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นเส้นทางหลัก และเสริมด้วยระบบ Feeder ภายในพื้นที่พัฒนาระบบขนส่งมวลชน 2. พัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือ เพื่อเป็นแกนหลักของการขนส่งสินค้า 3. พัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือกับย่านนิคมอุตสาหกรรม พัฒนารถไฟทางคู่ลักษณะรวมและกระจายการขนส่งสินค้าระหว่างนิคมอุตสาหกรรม เข้าสู่รถไฟแกนหลัก เพื่อเชื่อมออกประตูการค้า และ5. การขนส่งสินค้ามูลค่าสูง หรือขนาดเล็ก รองรับด้วยการขนส่งด่วนทางอากาศ

ในส่วนของโครงข่ายการคมนาคมระบบรางในพื้นที่ อีอีซี จะมี 3 ระบบ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ร่วมกับรถไฟทางไกล โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา สถานีชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ

โดยระบบรถไฟฟ้าชานเมืองจะเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ปริมณฑล เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ อีอีซี โดยเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ กับระบบรถไฟฟ้าชานเมือง และขยายแนวเส้นทางรถไฟต่อไปยัง 4 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม และจ.สมุทรปราการ เพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่างเมือง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยังเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯกับ อีอีซี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกล ประกอบด้วย สายเหนือช่วงรังสิต-สถานีชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 60 กม. สายตะวันออกเชื่อมมักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 12.6 กม. ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 43.2 กม. สายตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-นครปฐม ระยะทาง 43 กม. และสายใต้ ช่วงมหาชัย-ปากท่อ ระยะทาง 56 กม.

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการสำคัญเพื่อสร้างโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ อีอีซี ให้สมบูรณ์ โดยรถไฟความเร็วสูงสามารถเดินทางจากสถานีระยองเข้าถึงสถานีสุวรรณภูมิ สถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมืองได้โดยตรง ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ระยอง และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้จะมี 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง, บางซื่อ, มักกะสัน, สุวรรณภูมิ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ศรีราชา, พัทยา และสถานีอู่ตะเภา

โครงการรถไฟทางคู่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางส่งเรือ ซึ่งจะศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา สถานีชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด และชุมทางศรีราชา-สัตหีบ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงทางรถไฟเดิม ปรับปรุงระบบอาณัตสัญญาณ และแก้ไขจุดตัดทางผ่าน ช่วงหัวหมาก-สถานีชุมทางศรีราชา ระยะทางประมาณ 115 กม. เพิ่มเส้นทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 46 กม. ก่อสร้างทางคู่ ช่วงชุมทางศรีราชา-ชุมทางเขาชีจรรย์-มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบริเวณชุมทางศรีราชา และชุมทางเขาชีจรรย์ ระยะทาง 85 กม.

นอกจากนี้ จะศึกษาการพัฒนาที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ มีพื้นที่ศึกษา 500 เมตร-1 กม. รอบสถานีรถไฟ ซึ่งผลการศึกษาจะเสนอแนวทางออกแบบเบื้องต้น และประมาณราคาต้นทุนการพัฒนา ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยในพื้นที่นิ้จะประกอบด้วยย่านการค้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง ต้องมีพื้นที่สาธารณะเพียงพอตอบสนองการใช้งาน ซึ่งจะมีย่างการค้าเกาะตัวไปตามแนวแกนเชื่อมต่อหลัง และรอง หรือสถานีเชื่อมต่อการขนส่งโดยรอบ ย่านการขนส่งสินค้าต้องสอดคล้องกับประเภท รูปแบบ และปริมาณการขนส่งสินค้า