ผงะ! คนไทย9ล้านคน 'เสพติดหวย' เจ้ามือโกยปีละ2.5แสนล้าน

ผงะ! คนไทย9ล้านคน 'เสพติดหวย' เจ้ามือโกยปีละ2.5แสนล้าน

อาการหนัก! ผงะคนไทย9ล้านคน "เสพติดหวย" เจ้ามือโกยปีละ2.5แสนล้าน

รู้หรือไม่... คนไทยใช้เงินซื้อหวยแต่ละปีไปเท่าไหร่ เงินที่ซื้อหวยสามารถซื้ออะไรได้บ้าง นำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และเราสูญเสียโอกาสไปมากน้อยขนาดไหน ที่เอาเงินไปเสี่ยงโชค ซื้อหวย ซื้อลอตเตอรี่ แทนที่จะเอาเงินเหล่านี้ไปต่อยอดความเป็นอยู่ในชีวิตให้ดีขึ้น

ล่าสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB Analytics ได้มีการออกบทวิเคราะห์ “หวย..ความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของไทย” เป็นการเจาะลึกและวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของประชาชนจากการซื้อหวย ลอตเตอรี่ของคนไทย ผ่านทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี นำโดย “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหาร TMB Analytics และ “นันทพร ตั้งเจริญศิริ” หัวหน้าทีมศึกษา วิจัยประสบการณ์และข้อมูลลูกค้า

1_53

“นริศ” บอกว่า จากผลศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยถึง 1 ใน 4 ที่ซื้อลอตเตอรี่และหวย รวมกันเป็นเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือพูดง่ายๆ คือ คนไทยราว 20 ล้านคน ซื้อหวย ลอตเตอรี่สูงกว่าการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ แอลทีเอฟ (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ อาร์เอ็มเอฟ (RMF) ถึง 3 เท่า หากมองในมุมเศรษฐกิจ ยังพบว่าเม็ดเงินของคนไทยที่ใช้เล่นหวยต่อปีเทียบเท่ากับเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงมาก

นอกจากนี้พฤติกรรมการเล่นหวยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มอาชีพ หรือประชาชนในระดับฐานรากเท่านั้น แต่คนที่เล่นหวยยังกระจายอยู่ทุกที่ แม้แต่มนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของกิจการยังนิยมการเสี่ยงโชค ด้วยการซื้อหวยเช่นกัน

ที่สำคัญ จากข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า หากดูกำลังแรงงานของประเทศปัจจุบันที่มีกว่า 38 ล้านคน พบว่า 25 ล้านคนเป็นกลุ่มมีเงินเดือนประจำ และเจ้าของธุรกิจ ในกลุ่มนี้กว่า “12 ล้านคน” ส่วนใหญ่เป็นคนที่เล่นหวย ทั้งเล่นแบบขำๆ หรือชอบหวย และถึงขั้นติดหวย โดยพบว่ามีกว่า 9 ล้านคน ที่ “เสพติดหวย” ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศ ส่วนใหญ่เพราะครอบครัวมีภาระ การซื้อหวย ลอตเตอรี่ก็หวังรวยทางลัด ทำให้การซื้อหวยหรือลอตเตอรี่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต หรือกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5-6 ที่ประชาชนขาดไม่ได้ไปแล้ว

"เราอยากให้เห็นถึงผลกระทบกับชีวิตคน โดยเฉพาะเงินเดือนที่เอาเงินไปเล่นหวย ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาพื้นฐาน และสะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ก็ยังขาดความรู้ทางการเงิน แทนที่จะนำเงินไปต่อยอดลงทุนใหม่ ซื้อกองทุน ฝากเงิน ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ทำนโยบายว่า การให้ความรู้ทางการเงินอาจต้องทำให้ครอบคลุมกลุ่มเหล่านี้มากขึ้นด้วย” นายนริศกล่าว

ขณะที่ “นันทพร” ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เกิน 55% มองหวยเป็น “ความฝัน” และ “ความหวัง” ที่จะทำให้รวย และมีชีวิตที่ดีขึ้น จากสถิติก็ชี้ให้เห็นว่าการถูกรางวัล นั้นมี “น้อยมาก” โดยคนคาดหวังถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีถึง 44 % แต่โอกาสถูกจริงมีเพียง 1 ในล้านเท่านั้น ส่วนคนที่เล่นหวยคาดว่าจะถูกหวย 2-3 ตัวบนล่าง พบว่ามีอยู่ถึง 78% แต่โอกาสถูกจริงเพียง 0.4-2% เท่านั้น

นอกจากนี้หากดูจาก Google Trend ชี้ให้เห็นว่าใน 15 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีการค้นหา “เลขเด็ด” เพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งสวนทางกับเงินฝาก ที่พบว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% เท่านั้น ที่สำคัญพบว่าแม้ประชาชนเจอวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้ทำให้คนไทยเล่นหวยน้อยลง โดยยังซื้อหวย 1.2% ของรายได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท เป็นกลุ่มที่ซื้อหวยค่อนข้างมากหรือ 350 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 2.2% ของรายได้ทั้งหมด และหากดูกลุ่มที่มีเงินเดือนเกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนกลุ่มนี้เล่นหวยเฉลี่ยอยู่ที่ 680 บาทต่อเดือน หรือราว 1.2% ของรายได้ทั้งหมด

หากดูพฤติกรรมการซื้อหวยของมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ พบว่าจาก 12 ล้านคนที่ชอบเล่นหวยมีราว 26% ที่เล่นหวยขำๆ หรือราว 3.2 ล้านคน กลุ่มนี้มีอัตราการซื้อหวยต่อเดือนอยู่ที่ 225 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มที่ชอบหวยมีสัดส่วนสูงถึง 63% หรือ 7.6 ล้านคน มีการซื้อหวยต่อเดือนอย่างน้อยเดือนละครั้ง 420 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มที่ติดหวย มีราว 11% หรือ 1.3 คน กลุ่มนี้เล่นหวยทุกงวด โดยมีค่าซื้อหวยต่อเดือนถึง 800 บาท

หากดูเม็ดเงินที่กลุ่มมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการแต่ละกลุ่มซื้อหวยเป็นเวลา 50 ปีติดต่อกัน พบว่ากลุ่มที่เล่นขำๆ ใช้เงินไปกับการซื้อหวยรวมกันอยู่ที่ 3 แสนบาท ซึ่งสามารถนำไปจ่ายค่าประกันสุขภาพได้ถึง 20 ปี ขณะที่กลุ่มที่ชอบหวย พบว่าใช้เงินไปถึง 5.7 แสนบาท เงินส่วนนี้สามารถนำไปซื้อซิตี้คาร์ได้ 1 คัน และสุดท้าย คือกลุ่มที่ติดหวย ที่พบว่า ใช้เงินซื้อหวยไปตลอดระยะเวลา 50 ปีถึง 1 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับการซื้อบ้านได้หนึ่งหลัง

“ต้องการชี้ให้ประชาชนเห็นว่า เงินที่นำไปซื้อหวยในแต่ละครั้ง แม้จะเป็นเงินเล็กน้อยของแต่ละเดือน แต่หากสะสมกันไปหลายๆ ปีก็ถือเป็นเงินจำนวนมหาศาล ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาทางการเงินในครัวเรือนได้ ซึ่งเท่ากับการสูญเสียโอกาสการมีบ้าน การมีรถและเงินออมจำนวนมหาศาล”