สวทช.เปิด ‘6-6-10’ กลยุทธ์ติดปีกอุตฯ

สวทช.เปิด ‘6-6-10’ กลยุทธ์ติดปีกอุตฯ

“6-6-10” กลยุทธ์ขับเคลื่อนงานวิจัยในปี 2562 ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกอบด้วย 6 สาขาที่เชี่ยวชาญ 6 สาขาวิจัยแห่งอนาคตและ 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย

มุ่งสร้างขีดความสามารถการพัฒนาเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับแนวหน้า และสร้างความเข้มแข็งในสาขาที่เชี่ยวชาญเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีนี้ จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี 261 โครงการให้กับหน่วยงานต่างๆ รวม 335 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 45,000 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่าเกือบ 14,000 ล้านบาท

เปิดสูตรเคลื่อนนวัตกรรมไทย

“สำหรับการทำงานในปีหน้า สวทช. ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทิศทางในการเดินหน้าของ สวทช. ก็ต้องเร่งเครื่องปรับตัวให้ก้าวทัน และก้าวนำ กลยุทธ์ 6-6-10 จึงถูกวางเป็นกรอบการทำงานในปี 2562” ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

สูตร 6-6-10 นี้ เลข 6 ตัวแรก คือ 5 สาขาวิจัยหลักที่เป็นความเชี่ยวชาญของ สวทช. ประกอบด้วย ชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชรวภาพ, นาโนเทคโนโลยี, อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, วัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิต และเทคโนโลยีพลังงาน รวมกับ 1 สาขาใหม่คือ Agenda-based หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการประเทศในปัจจุบัน

เลข 6 ตัวต่อไป คือ 6 Frontier research หรือ 6 สาขาวิจัยขั้นแนวหน้าที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้แก่ ควอนตัมคอมพิวติ้ง, ไบโอนิกส์, นาโนโรโบติกส์, เทระเฮิร์ตส์, ดีเอ็นเอ ดาต้า สตอเรจ และอะตอมมิค พรีซิชัน ไบโอิมเมจจิ้งและแพลนท์ อิเล็กทริค เซอร์กิต

ส่วนตัวเลข 10 คือ กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย เรียกว่า Technology Development Groups : TDGs ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแบบจับต้องได้ ประกอบด้วย สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ, สารสกัดจากสมุนไพรที่ใช้ทำเครื่องสำอาง, ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ, การแพทย์แบบแม่นยำที่จะนำไปสู่การตั้งคลังข้อมูลพันธุกรรม การใช้เทคโนโลยีนาโนในการตรวจและรักษา รวมไปถึงการรักษาโรคแบบจำเพาะบุคคล,

งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัลทางการแพทย์, Food & Feed เป็นกลุ่มที่ศึกษา functional ingredients ในอาหารคน อาหารสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ, เกษตรแม่นยำ, Mobility & Logistics รวมถึงต้นแบบชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบา, พลังงาน-พลังงานทางเลือก และสุดท้าย Dual-use defense เช่น การพัฒนาเครื่อง jammer สำหรับโดรน และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น

“ทั้งหมดเป็นความพยายามทำภารกิจขับเคลื่อนประเทศให้กลายเป็น ประเทศไทย 4.0 ได้จริง โดยอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการจัดการเทคโนโลยีที่ สวทช. มีอยู่ เชื่อมั่นว่า งานวิจัยที่สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้จริง จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวตามระบบเศรษฐกิจหลักที่เป็นเป้าหมายของประเทศ” ณรงค์ กล่าว

ผลงานเด่นส่งผลระดับโลก

ตัวอย่างผลงานเด่นในรอบปีที่เป็นที่ยอมรับระดับประเทศและระดับโลก อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูดจับสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์ จากเอนไซม์โปรติเอส (Enzyme Protease)ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนในสิงคโปร์ สามารถสร้างมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 6,000 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนี้เป็นชนิดใหม่สำหรับใช้ลดปริมาณสารพิษจากเชื้อราปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถลดปริมาณสารพิษปนเปื้อนได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสารฟูโมนิซินและซีราลีโนน สารพิษจากเชื้อราที่สร้างความเสียหายในอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์เป็นลำดับต้นๆ (พบในกลุ่มอาหารสัตว์ ไก่ เป็ด สุกร และโค)

เอนไซม์โปรติเอสยังสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของสารพิษเชื้อราให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ Zeta L-Tonic ทั้งในและต่างประเทศ รวม 7 ประเทศแล้ว,

ผลงานข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมกับคนเอเชีย พัฒนาร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ญี่ปุ่นทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าทั้งนี้ สวทช. ได้เตรียมจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านรูปแบบบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง สวทช. บริษัท เทยิน นาคาซิม่า เมดิคอล และบริษัทเอกชนไทย เพื่อผลักดันให้เกิดบริษัทเครื่องมือแพทย์ขั้นสูงขึ้นในไทย