พพช.ย้ำแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ

พพช.ย้ำแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ

พรรคเพื่อชาติ ชี้แก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ เป็นนโยบายพรรคแบบองค์รวม

นางสาวเกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ เผยว่าจากผลสำรวจซุปเปอร์โพลรายงานว่า ประชาชนต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ/ข่มขืนถึงร้อยละ 55.7 รองลงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งตนเห็นด้วยกับปัญหาประเด็นนี้ และได้เสนอทางพรรคเพื่อชาติให้บรรจุแนวทางแก้ปัญหานี้ในนโยบายพรรค เนื่องจากความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลต่อปัญหาการท้องไม่พร้อม การติดเชื้อเอชไอวี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทุกๆ ปี เห็นได้จากสถิติของผู้ป่วยที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศของศูนย์พึ่งได้และชันสูตร รพ.ตำรวจ พบว่าในปี 2556 มีเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ 624 ราย และความรุนแรงในครอบครัว 71 ราย ส่วนในปี 2560 มีเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ 654 ราย และความรุนแรงในครอบครัว 114 ราย ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มเหยื่อถูกกระทำเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง อีกสถิติหนึ่งที่รายงานจำนวนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศปี 2556 จากการสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีจำนวน 31,866 ราย เฉลี่ยวันละ 87 ราย หรือทุกๆ 15 นาที มีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 1 คน ซึ่งผู้ที่กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึงร้อยละ 31.1 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 โดยประมาณ รองลงมา อ้างว่ามีปัจจัยกระตุ้นจากอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 28 การใช้สารเสพติด ร้อยละ 16.3 และต้องการชิงทรัพย์ ร้อยละ 11.7

โดยเหยื่อเริ่มตั้งแต่อายุแรกเกิดถึง 90 ปี ซึ่งเหยื่อจะพบปัญหาท้องไม่พร้อมจะสูงที่สุด และเด็กแรกเกิดหลายรายที่ได้รับเชื้อเอชไอวีจากแม่ ปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ส่วนมากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา เนื่องจากขาดที่พึ่งที่ปลอดภัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงยากที่จะแก้ปัญหาได้ รวมทั้งค่านิยมเพศชายเป็นใหญ่ที่โทษว่าปัญหานี้มาจากความผิดของเหยื่อ ตัวอย่างที่เห็นชัดจากค่านิยมกดผู้หญิงเป็นประชาชนชั้นสอง คือ กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์กรณีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกข่มขืนว่า “ว่าเหยื่อแต่งชุดบีกินี่จะปลอดภัยไหม” และทุกเทศกาลสงกานต์พลเอกประยุทธ์จะออกมาบอกว่าอย่าแต่งตัวเปิ๊ดสะก๊าดบ้าง อย่าแต่งตัวโป๊บ้าง ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าแจ้งความเพราะอาย กลัว ถูกข่มขู่ และค่านิยมกดผู้หญิงเหล่านี้ เหยื่อหลายรายเมื่อขึ้นโรงพัก ตำรวจแค่ลงบันทึกประจำวันแล้วให้กลับบ้าน พ้นโรงพักก็เกิดความรุนแรงอีก

โดยตนเสนอทางพรรคให้มีนโยบายต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด เกิดการเปลี่ยนรากฐานทัศนคติ ช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างรวดเร็วทันท่วงที โดยไม่เลือกปฏิบัติ รณรงค์เปลี่ยนค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ชอบกดขี่หญิง และรณรงค์ถึงโทษภัยของแอลกอฮอล์ โดยบรรจุในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่ง อีกทั้งมีสวัสดิการรองรับให้กับผู้เสียหาย เนื่องจากสถิติรายงานว่าผู้ถูกกระทำทั้งทางร่างกายจิตใจ 1 ใน 3 มีอาการหวาดผวา ระแวง ซึมเศร้า หลายรายถูกทำร้ายร่างกายอาการสาหัส อีกทั้งต้องรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาที่ขึ้นคือ ครอบครัวควรให้กำลังใจ ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ และควรสร้างความคิดที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ถูกกระทำแทนภาพเชิงลบ ให้ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อลดความหวาดกลัว สิ้นหวัง กล้าเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น บุคคลในหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ตำรวจ ควรมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ละเอียดอ่อน ไม่กระทำซ้ำผู้ถูกกระทำ หรือจัดการปัญหาด้วยการมองว่าเป็นปัญหาของผู้หญิง อีกทั้งในระบบการเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศต้องดูแลแบบต่อเนื่อง เน้นการทำงานกับพลังภายในของผู้ถูกกระทำด้วย เพื่อทำให้เห็นคุณค่าภายใน เห็นศักยภาพความสามารถของตนเอง เพราะการข่มขืนไม่ได้เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ทำลายคุณค่าภายในใจผู้ถูกกระทำอีกด้วย การจะช่วยให้ปัญหานี้หมดไปต้องให้โอกาสผู้หญิงและพรรคเพื่อชาติมาช่วยแก้ปัญหานี้

ภาพ-fb/pueachat