ขายซองประมูล 'อีอีซีดี' ม.ค.62 พัฒนาเฟสแรกพื้นที่120ไร่

ขายซองประมูล 'อีอีซีดี' ม.ค.62 พัฒนาเฟสแรกพื้นที่120ไร่

ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ เตรียมออก ทีโออาร์ ต้นเดือน ม.ค. 2562 ได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนเม.ย. เผยมีผู้ส่วนในเข้ามาพัฒนาโครงการ 4-5 ราย มีบริษัทดิจิทัลสนใจเข้ามาตั้งกว่า 1 พันราย คาดมียอดลงทุน 2-3 หมื่นล้านบาท

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) หรือ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ว่า โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ รองรับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ทั้งนี้ ใช้ 700 ไร่ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และใกล้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ศรีราชา และมีโครงข่ายมหาวิทยาลัยที่จะมาร่วมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งจะมีสถาบันไอโอที ที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตร่วมวิจัยพัฒนากับผู้ประกอบการในดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์

สำหรับ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จะเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ จะถูกนำมาใช้ในพื้นที่นี้ ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างสะดวก มีความปลอดภัยสูง และมีโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่ ซึ่งการขอใบอนุญาตธุรกิจจะสะดวกรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น ทำให้ผู้พัฒนาพื้นที่และผู้มาลงทุนตั้งธุรกิจได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดและความสะดวก เช่น การขอวีซ่าให้นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ สิทธิลดหย่อนเงินได้ภาษีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอีอีซี

50บริษัทร่วมมาร์เก็ตซาวดิ้ง

นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งนี้มีเอกชนเข้าร่วมกว่า 50 บริษัท

ส่วนความคืบหน้าของโครงการกำลังเดินตามกรอบเวลาที่วางไว้ โดยหลังจากนี้ จะนำความคิดเห็นที่ได้จากภาคเอกชน จัดทำทีโออาร์ เสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบ จากนั้นจะเปิดขายซองต้นเดือน ม.ค.2562 และเปิดให้ยื่นซองต้นเดือน มี.ค.2562 หลังจากนั้นจะประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรก และให้เสนอซองเทคนิคกลางเดือน มี.ค.2562 และคาดว่าจะได้ตัวเอกชนผู้ชนะกลางเดือน เม.ย.-ปลายเดือน เม.ย.2562 และจะลงนามสัญญาได้ไม่เกินเดือน พ.ค.2562

ทั้งนี้ หลังจากลงนามจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี ก่อสร้างโครงการ เฟส 1 มีพื้นที่ 120 ไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ ซึ่งระหว่างก่อสร้างหากพื้นที่เสร็จจะเปิดขายได้ทันที ส่วนเฟส 2 จะพัฒนาพื้นที่ที่เหลือและเริ่มก่อสร้างภายหลังจากที่เปิดดำเนินการในเฟส 1 ได้ 2 ปี

2_20

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการลงทุนพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 4-5 ราย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ จะใช้เงินลงทุน 3-4 พันล้านบาท ส่วนบริษัทด้านดิจิทัล ที่สนใจเข้ามาตั้งสำนักงานในพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ เป็นจำนวนมาก คาดว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่กว่า 100 ราย และเป็นบริษัทขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่จากจีนและญี่ปุ่น โดยจะเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลที่หลากหลายเกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมียอดลงทุนทั้งโครงการ 2-3 หมื่นล้านบาท

“ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จะสร้างอาคารสูงหลายหลัง เพื่อรองรับบริษัทดิจิทัล และสตาร์อัพ เข้ามาเช่าพื้นที่ ซึ่งบริษัทด้านดิจิทัลใช้พื้นที่ไม่มากและมีพนักงานน้อย ทำให้แต่ละอาคารรองรับผู้ประกอบการได้มาก รวมทั้งจะมีห้องแล็ปวิจัยพัฒนาดิจิทัล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ทันสมัยและระบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทำให้ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ พร้อมดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาตั้งธุรกิจต่อยอดพัฒนานวัตกรรม”

หวังดึงต่างชาติลงทุนดิจิทัล

นายวงกต กล่าวว่า ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ ไม่มุ่งเน้นผลกำไรเป็นหลัก แต่จะเน้นการดึงดูดให้ต่างชาติที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาลงทุนตั้งฐานการวิจัยพัฒนาภายในไทย เพื่อให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีกับไทย เพื่อเกิดระบบนิเวศที่พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย และยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

1_45

ส่วนการลงทุนดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ CAT จะเป็นผู้ลงทุนและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ได้แก่ ท่อและท่อย่อยวางเคเบิลใยแก้วนำแสงลงใต้ดิน วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท และประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เช่าหรือให้ใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการให้เอกชนที่ดำเนินโครงการ และจะจัดหาเงินทุนเพื่อร่วมในการดำเนินโครงการตามที่ CAT เห็นสมควร

ทั้งนี้ เอกชนที่ชนะประมูลต้องรับผิดชอบงานออกแบบ งานก่อสร้าง การจัดหาแหล่งเงินทุน งานให้บริการ และงานบำรุงรักษา รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคหลักภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ และต้องทำการตลาดกับกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย

เอกชนห่วงจัดทำอีไอเอล่าช้า

นายวงกต กล่าวว่าจากการหารือกับภาคเอกชนมีบางส่วนเห็นว่าระยะเวลา 2 ปี อาจจะก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและอาคารหลักไม่ทัน เพราะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ใช้เวลานาน ซึ่งหากติดปัญหาในเรื่องนี้จริงก็พร้อมขยายระยะเวลาก่อสร้าง
สำหรับรายได้ของ CAT จะมาจากค่าเช่าพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ โดยค่าเช่าจะขึ้น 9% ทุก 3 ปี ตลอดอายุสัญญา 50 ปี ส่วนแบ่งรายได้จากกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3% ซึ่งจะมาจากคาเช่าช่วงที่ดิน และค่าบริการสาธารณูปโภคจากภาคเอกชน ส่วนเอกชนจะมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่โครงการ และค่าบริการระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ใช่โทรคมนาคม

รายงานข่าวระบุว่า การเสนอความเห็นของภาคเอกชนครั้งนี้ มองว่าระยะเวลาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคารให้เสร็จภายใน 2 เป็น เป็นระยะเวลาที่น้อยเกินไป รวมทั้งการให้เวลาภาคเอกชนไปวางแผนงาน เพื่อนำมายื่นซองข้อเสนอภายใน 2 เดือน เป็นเวลาที่น้อยมาก จึงควรจะขยายกรอบเวลาในส่วนนี้

นอกจากนี้ ควรจะยืดหยุ่นในสัดส่วนที่กำหนดให้ต้องเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลถึง 80% มองว่าเป็นสัดส่วนที่มากไป ควรจะลดลงเหลือ 60% เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมอื่นที่จะแสวงหาผลกำไร เช่น โรงแรม ย่านการค้า ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล