จากวิกฤติบนที่สูง สู่งานวิจัยไทด่าน

จากวิกฤติบนที่สูง สู่งานวิจัยไทด่าน

จัดแสดงผลงาน “วิจัยด่านซ้ายโมเดล”  โครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือก และความมั่นคงทางอาหาร และโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและการตลาดสีเขียว มาตรฐาน "ด่านซ้ายกรีนเน็ต" (Dansai Green Net : Exhibition)

โดย สกว. ร่วมกับอำเภอด่านซ้าย จ.เลย จัดขึ้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นางสาวภูมารินทร์ คงเพียรธรรม นายอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณม์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายเกษตร และผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมงาน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561

พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ตลาดพืชผักปลอดภัยมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนต , การทำอาหารจากวัตถุดิบอาหารและพืชผักปลอดภัยบ้านก้างปลาและบ้านนาหมูม่น , การตรวจสารปนเปื้อนในพืชผักอย่างง่าย การสร้าง “แบนรด์” ของด่านซ้ายกรีนเนต: ชุดฟอร์ม, ป้ายแม่ค้า, ป้ายสินค้า ฯลฯ ,สารเคมีทางการเกษตรกับ “ผู้หญิง” (โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์), จาก “ป่า” สู่ “ครัว” ไทด่าน & รพร.ด่านซ้าย (ให้ข้อมูลฐานทรัพยากรดิน น้ำ และป่า) ,เรื่องเล่าจากราวป่า: นักสืบสายน้ำ & เยาวชนกับผืนป่า 

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกว.ได้ให้การสนับสนุน โครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือก และความมั่นคงทางอาหาร (2559-60) และโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและการตลาดสีเขียว มาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนตฯ (2560-61)  โดย ผศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อยอดจากโครงการศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการระบบและความมั่นคงอาหารของชุมชน: กรณีศึกษาอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

โดยเลือกหมู่บ้านก้างปลา และ หมู่บ้านนาหมูม่น เป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อศึกษาศักยภาพทั้งในแง่บทบาทและการปรับตัวของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการระบบและความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารในความหมายของคนท้องถิ่น รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการขยายพื้นที่รุกเข้าไปในผืนป่ามากขึ้น ทำให้ที่ดินป่าไม้ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรอย่างถาวรต่อเนื่อง

กระทั่งเกิดปัญหาการชะล้างการพังทลายของหน้าดิน  ซึ่งนอกจากก่อให้เกิด "เขาหัวโล้น" แล้ว การทำเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก ๆ ยังส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจากกรณีปัญหาก็ทำให้งานวิจัยนี้ให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ และผืนป่า เพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญต่อ วิถีการทำการเกษตรของชาวบ้าน

 จากการวิจัยพื้นฐานและการจัดการความรู้ การจัดการป่า การจัดการน้ำ การจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัย และการมีส่วนร่วมของชุมชน พื้นที่ ทำให้ปัจจุบัน หมู่บ้านก้างปลา กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้าน Smart Farmer  อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่เปลี่ยนจาก การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็น การปลูกพืชผักปลอดภัยส่งตลาด เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และตลาดประชารัฐภายใต้มาตรฐาน “Dansai Green Net”  

ผศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา ระบุไว้ถึงว่าการจะเป็น "สมาร์ท ฟาร์เมอร์ (Smart Farmer)" ว่า “การจะเป็น Smart Farmerนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้าไปช่วย ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเป็นกันได้ ดังนั้น คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเป็นSmart Farmerได้ 1.จะต้องเป็นคนพร้อมเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชใหม่ๆ ก้าวทันเทคโนโลยี

2. เรื่องขององค์ความรู้การจัดการดิน น้ำ และโรคของพืช ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การตรวจคุณภาพดินปุ๋ยสั่งตัด การใช้สารเคมี หรือการใช้น้ำแบบรู้คุณค่ามากขึ้น เช่น การใช้ระบบน้ำหยด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ความรู้หลายอย่างที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เข้าไปให้ชาวบ้าน ผสมผสานกับฐานความรู้ภูมิปัญญาเดิม ก็จะนำไปสู่องค์ความรู้ของชุมชนในรูปแบบที่เหมาะสมกับนิเวศของชุมชนเอง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องของวิธีคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงจึงจะมีโอกาสเป็นSmart Farmerได้”

อย่างไรก็ตามเมื่อการบุกรุกป่าลดลง ระยะยาวแหล่งต้นน้ำและผืนป่าก็จะได้รับการฟื้นฟู ปัจจุบันหากใครได้มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านก้างปลาจะเริ่มเห็นการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเข้ามาแทนที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มะขาม ส้ม ลิ้นจี่ ลำไย อโวคาโดและอื่นๆ ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าที่นี่จะเกิดความหลากหลายกลายเป็นวนเกษตรขึ้นแทนที่ภาพเขาหัวโล้น ซึ่งอนาคตอีกไม่นานจะทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของผืนป่ากลับคืนมาในที่สุด

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน สกว. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนการวิจัย ตระหนักถึงความรับผิดชอบของภาควิชาการ จึงได้มีการจัดประชุมระดมความเห็นการจัดการลุ่มน้ำหมันเมื่อต้นปี 2560 และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การจัดการลุ่มน้ำหมันเร่งด่วน เพื่อให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เกิดการขับเคลื่อนในปัจจุบัน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดยอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม